ดิจิทัลคอลเล็คชั่นของสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สำนักหอสมุดเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นพร้อมการก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ในปี พ.ศ. 2477 ด้วยระยะเวลาการก่อตั้งที่ยาวนาน ทำให้สำนักหอสมุดได้สั่งสมทรัพยากรสารสนเทศที่มีคุณค่าในด้านเนื้อหาและการจัดพิมพ์เป็นจำนวนมาก

ด้วยการตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของทรัพยากรสารสนเทศ ความต้องการอนุรักษ์ทรัพยากรสารสนเทศให้คงอยู่ได้ด้วยรูปแบบการจัดเก็บและการนำเสนอที่แตกต่างออกไปโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาจัดการ การตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการให้สามารถเข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศโดยปราศจากข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ การส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด สำนักหอสมุดจึงมีมุ่งมั่นที่จะพัฒนาดิจิทัลคอลเล็คชั่นให้เข้มแข็ง เพื่อเป็นแหล่งจัดเก็บและให้บริการทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำนักหอสมุดเริ่มต้นพัฒนาดิจิทัลคอลเล็คชั่นด้วยการแปลงรูปทรัพยากรสิ่งพิมพ์เป็นรูปดิจิทัลในปี พ.ศ. 2544 โดยหนังสือหายากเป็นทรัพยากรสารสนเทศประเภทแรกที่ได้รับการพิจารณานำมาจัดทำ เนื่องจากเป็นสิ่งพิมพ์ที่ทรงคุณค่าด้านเนื้อหาและด้านการพิมพ์ ไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามท้องตลาดหรืออาจไม่มีในห้องสมุดอื่นๆ โดยมุ่งเน้นการทำสำเนาทรัพยากรในรูปดิจิทัลเพื่อให้เนื้อหายังคงอยู่ สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาค้นคว้าได้สืบไป ต่อมาสำนักหอสมุดมีการพัฒนาดิจิทัลคอลเล็คชั่นอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวทางในการพิจารณาทรัพยากรสารสนเทศประเภทสิ่งพิมพ์เพื่อนำมาแปลงรูปเป็นดิจัล 4 ประเด็นคือ คุณค่าของทรัพยากรสารสนเทศ ลักษณะทางกายภาพ คุณภาพของทรัพยากรสารสนเทศ และเรื่องของลิขสิทธิ์

ปัจจุบันสำนักหอสมุดจัดเก็บดิจิทัลคอลเล็คชั่นในระบบ CONTENTdm ซึ่งเป็นระบบสารสนเทศที่สามารถรองรับการจัดเก็บทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลได้หลายรูปแบบ ได้แก่ ไฟล์ในรูปแบบ Microsoft office, .pdf, MP4, Image, Video เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชั่นการทำงานที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบสืบค้นแบบบูรณาการ (Integrated search) ที่สำนักหอสมุดจัดหามาใช้งาน ได้แก่ ระบบ One Search ของบริษัท Ebscohost และระบบ WorldCat Local ของ OCLC ซึ่งช่วยให้ข้อมูลที่จัดเก็บในระบบ CONTENTdm สามารถสืบค้นผ่านระบบดังกล่าวได้แบบอัตโนมัติ ทำให้ข้อมูลทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลได้รับการเผยแพร่อย่างรวดเร็ว โดยบุคคลทั่วไปสามารถเข้าใช้บริการดิจิทัลคอลเล็คชั่นของสำนักหอสมุดโดยตรงได้ที่เว็บไซต์ http://beyond.library.tu.ac.th

ดิจิทัลคอลเล็คชั่นที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงเอกสารฉบับเต็มได้มีดังนี้
1. The 2011 Flood at TU รวมภาพเหตุการณ์และข่าวสารของมหาอุทกภัยน้ำท่วมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี พ.ศ. 2554
2. Digital Library@TU เอกสารรายงานการประชาสัมพันธ์ของสำนักหอสมุด ประกอบด้วยข่าวสารอันเป็นประโยชน์กับผู้รับบริการ ได้แก่ ข่าวสารการจัดกิจกรรมต่างๆ การให้บริการของห้องสมุด เป็นต้น ซึ่งจะเผยแพร่ตามสื่อสิ่งพิมพ์ และเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อส่งตรงข่าวสารให้แพร่หลายและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด
3. ETDA Publications เอกสารเผยแพร่ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (Electronic Transactions Development Agency (Public Organization)) ประกอบด้วย รายงานประจำปีขององค์กร สิ่งพิมพ์เนื้อหาเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ความปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบคอมพิวเตอร์ พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย เป็นต้น
4. The Foundation for the Promotion of Social Sciences and Humanities หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตโดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เป็นหนังสือวิชาการครอบคลุมด้านประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ จิตวิทยา การเมืองการปกครอง สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ปรัชญา ภาษาและวรรณคดี
5. Graduate Volunteer Center ผลงานวิจัยและสิ่งพิมพ์ของสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร
6. Rare books หนังสือหายากที่จัดเก็บในสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหนังสือที่ทรงคุณค่า มีลักษณะโดดเด่นด้านเนื้อหา หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาหนังสือหายากคือ หนังสือที่ตีพิมพ์ก่อนปี พ.ศ. 2490 หนังสือฉบับพิมพ์ครั้งแรก หนังสือที่มีจำนวนจำกัดและพิมพ์ในวาระพิเศษ หนังสือที่เป็นต้นฉบับตัวเขียน หนังสือที่มีเนื้อหาเป็นที่กล่าวขวัญ หนังสือที่มีสภาพรูปเล่มที่สวยงาม หนังสือที่มีขนาดและรูปเล่มแตกต่างจากธรรมดา หนังสือที่มีประวัติการครอบครอง หนังสือที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ หนังสือที่เขียน หรือแปลโดยบุคคลที่มีคุณูปการต่อมหาวิทยาลัย
7. The Thai democratization center สิ่งพิมพ์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประชาธิปไตยของไทย ครอบคลุมเรื่องการเมือง การปกครอง
8. Thammasat history collection รวบรวมเอกสาร หนังสือ วีดีโอที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
9. Thammasat University research งานวิจัยของคณาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
10. Thammasat University textbooks รวบรวมตำราการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผลงานของคณาจารย์ที่ทรงคุณวุฒิ
11. Thammasat University theses รวบรวมวิทยานิพนธ์ของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์