หัวเราะบำบัด…จากอารมณ์ขันสู่การรักษาโรค

คนเราถ้าอารมณ์ดีก็จะช่วยขยายความคิดสร้างสรรค์มากมาย ในทางกลับกันถ้าอยู่ในอารมณ์หวาดวิตก เคร่งเครียด หรือแม้แต่ความมุ่งมั่นมากเกินไป จะมีผลต่อความคิดจะหดแคบเข้ามา ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ดังนั้นเราลองมาปรับอารมณ์เราให้ดีด้วยเสียงหัวเราะที่เรียกว่า “หัวเราะบำบัด” เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ร่างกายเราดีกว่า

ก่อนที่จะไปฝึกการหัวเราะ เรามาทำความรู้จักกับการหัวเราะกันก่อนนะคะ การหัวเราะแบ่งได้ 2 ประเภท คือ หัวเราะธรรมชาติ เกิดจากถูกกระตุ้นให้มีอารมณ์ขัน ซึ่งเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน และหัวเราะบำบัด เป็นการหัวเราะแบบรู้ตัว เพื่อใช้ประโยชน์จากการหัวเราะกระตุ้นให้สมองหลั่งสารเอนดอร์ฟิน (Endorphin) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เราอารมณ์ดี มีความสุข จนมีนักวิชาการบางท่านนิยามสารชีวเคมีนี้ว่าเป็น “สารสุข” ซึ่งการหัวเราะส่งผลดีกับระบบการทำงานของร่างกายมากมาย ได้แก่ ระบบทำงานของสมอง ระบบหายใจ ระบบย่อยอาหารและการขับถ่าย ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบพักผ่อนและผิวพรรณ ระบบเจริญพันธุ์ และระบบภูมิคุ้มกัน

เมื่อเราทำความรู้จักและประโยชน์ของการหัวเราะแล้ว เรามาเริ่มการฝึกหัวเราะกันเลยดีกว่า การฝึกหัวเราะด้วยตนเองนั้นไม่ยาก ขั้นแรก ฝึกหัวเราะโดยมีสิ่งกระตุ้น เช่น ดูภาพยนตร์ตลก และหัวเราะเสียงดัง จากนั้นฝึกหัวเราะโดยไม่มีสิ่งกระตุ้น โดยแยกอารมณ์ขันออกจากการหัวเราะ หรือเข้าใจว่าการหัวเราะไม่จำเป็นต้องมาจาก “ความรู้สึกตลก” เสมอไป การหัวเราะโดยไม่มีเหตุผลนี้ให้เริ่มจากหัวเราะคิกคักและหัวเราะเสียงดังด้วยการเปล่งเสียงออกมาจากท้องผ่านลำคอและริมฝีปาก ด้วยการเปล่งเสียงโอ อา อู เอ โดยเสียง “โอ” ทำให้ภายในท้องขยับ เสียง “อา” ทำให้อกขยับขยาย เสียง “อู” เสียง “เอ” ทำให้ลำคอเปิดโล่ง และช่วยบริหารใบหน้า

ขั้นตอนการหัวเราะ

  • เริ่มจากหายใจเข้าลึกๆ กลั้นไว้สักครู่ เปล่งเสียงเป็นจังหวะเช่น โอ โอ โอ โอ ยาวๆ จนกว่าจะหมดอากาศที่เก็บไว้ สูดหายใจเข้าใหม่ หัวเราะเสียงละ 3 ครั้ง เมื่อออกเสียงเป็นจังหวะแล้วให้บริหารร่างกายไปด้วย เริ่มจากเสียง “โอ” ให้ย่ำเท้าอยู่กับที่ เสียง “อา” ให้ยกแขนขึ้นสูงๆ แล้วโบกไปมา เสียง “อู” ให้ส่ายเอวท่าฮูลาฮูบ เสียง “เอ” ให้หมุนหัวไหล่ โดยทำท่าเหล่านี้ในระหว่างที่หัวเราะด้วย
  • จมูกหัวเราะ ย่นจมูกขึ้นและทำเสียง “ฮึๆ” ในจมูกเหมือนม้า ท่านี้จะช่วยไล่สิ่งสกปรกในจมูกออกมา บำบัดภูมิแพ้ ไซนัส หวัด โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาเรื่องระบบหายใจ ท่านี้จะช่วยให้จมูกโล่ง
  • ตาหัวเราะ กะพริบตาถี่ๆ กรอกตาขึ้นลงเป็นวงกลม แล้วเปล่งเสียง “อ่อย ๆ ๆ” เล่นหูเล่นตา มองซ้ายที ขวาที เพื่อการบริหารดวงตาให้ผ่อนคลาย ใครที่มีปัญหาตาแห้งหรืออยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ ท่านี้จะทำให้มีน้ำหล่อเลี้ยงที่ตา ช่วยให้ตาชุ่มชื้นขึ้น
  • สมองหัวเราะ โดยธรรมชาติของมนุษย์เมื่อเครียดมักจะปิดปาก เป็นเหตุให้ความดันขึ้นสมอง ท่านี้จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว โดยปิดปากแล้วเปล่งเสียง “อึ ๆ ๆ” ดันให้เกิดการสั่นสะเทือน ขึ้นไปนวดสมอง เมื่อทำเสร็จจะรู้สึกโล่ง โปร่งสบาย
  • ไหล่หัวเราะ เป็นการบริหารช่วงไหล่ ยืนตรงแล้วส่ายไหล่ไปมา เหมือนการว่ายน้ำฟรีสไตล์ พร้อมกับเปล่งเสียง “เอ เอะ ๆ ๆ” ใครที่มีปัญหาเกี่ยวกับไหล่ ท่านี้ช่วยได้
  • เอวหรือก้นหัวเราะ ช่วยบริหารบริเวณไขสันหลัง ก้นและสะโพก โดยช่วงกลางลำตัวต้องนิ่งอยู่กับที่ ขณะทำให้แขม่วท้องขมิบก้น พร้อมเปล่งเสียง “อู อุ ๆ ๆ”

ถ้าหากใครไม่สามารถออกกำลังกายหนักได้ การหัวเราะบำบัดเป็นอีกหนึ่งทางเลือก เป็นการออกกำลังกายที่ไม่หนักและมีประโยชน์มากมาย อย่ารอช้าเลยคะชวนคนในครอบครัวรอบๆตัวมาหัวเราะกัน เพราะนอกจากจะได้ออกกำลังกายแล้วยังเป็นการสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะทำให้อารมณ์ดีอีกด้วย…วันนี้คุณหัวเราะหรือยัง???

เอกสารอ้างอิง

หัวเราะบำบัดจากอารมณ์ขันสู่การรักษาโรค. (2558). NEWS wave, เมษายน 2558, 16.
DMH Staffs. (2549). หัวเราะบำบัด. สืบค้นเมื่อวัน 27 พฤษภาคม 2558, จาก http://www.dmh.go.th/News/view.asp?id=1044