ถอด…ความรู้จากภูมิปัญญา ครู/ศิลปิน/ปราชญ์พื้นถิ่นเพื่อการเรียนรู้และแบ่งปัน

วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน 2558 บุคลากรสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย นางสาวสุภาพร ชัยธัมมะปกรณ์ รองผู้อำนวยการสายบริหารและพัฒนา และนางสาวนพวรรณ วัฒนะนนท์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาห้องสมุด เข้าร่วมการสัมมนาโครงการการจัดการความรู้ (Knowledge Management) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ “ดี” ในการจัดการความรู้ของคณะ/หน่วยงาน/ส่วนกลาง มธ. ปีการศึกษา 2556 ณ ห้องประชุมแพทย์โดม 2 อาคารคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

วิทยากรภายนอกที่ได้ร้บเชิญมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในหัวข้อ “ถอด…ความรู้จากภูมิปัญญา ครู/ศิลปิน/ปราชญ์พื้นถิ่นเพื่อการเรียนรู้และแบ่งปัน” คือ อาจารย์วัลลภ ทองอ่อน จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร ซึ่งเป็นการแบ่งปันประสบการณ์ภาคสนาม ที่อาจารย์ได้ลงพื้นที่ในการนำศูนย์ภูมิสารสนเทศเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เพื่อหาพื้นที่ๆ เหมาะสมในการปลูกพืช และต่อมามีการขยายขอบเขตมาในเรื่องการจัดการทรัพยากร/อุบัติภัย

ประสบการณ์แรกที่อาจารย์วัลลภ นำมาเล่าสู่กันฟัง คือ ความรู้การทำนาเหมืองฝาย ที่หมู่บ้านหนองปิ้งไก่ นาบ่อคำ กำแพงเพชร ของลุงแปง วงค์ตา เนื่องจากชุมชนในพื้นที่นี้ อพยพมาจากลำปาง จึงมีความรู้ในการทำนาเหมืองฝายในพื้นที่เชิงเขา ทำนาเหมืองฝายได้ปีละ 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้ง ในการถอดความรู้การทำนาเหมืองฝาย จากชุมชน นั้น เริ่มจาก

  1. การเตรียม ตัวเรา เตรียมตัวคนที่จะไปขอความรู้
  2. เครื่องมือ “เรื่องเล่าของลุงแปง”
  3. พลังคำถาม เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะต้องตั้งคำถาม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ เช่น คืออะไร เป็นอย่างไร ทำไมต้องเป็นเช่นนั้น
    เมื่อได้รับเรื่องราวที่ถ่ายทอดจากลุงแปง ซึ่งเป็นความรู้ชุมชนแล้ว นำมาผนวกกับความรู้ทางสารสนเทศภูมิศาสตร์ เพื่อจะได้เป็นความรู้ใหม่ส่งต่อให้ชุมชนต่อไป

ประสบการณ์ที่สอง ได้แก่ การถ่ายทอดความรู้จากคุณประหยัด ติ๊บมุ่ง เกษตรกรดีเด่น ปลูกมันสำปะหลังได้ผลผลิตสูงสุด เนื่องจากคุณประหยัด มีวิธีการปลูกมันแบบตัดยอด โดยการเล่าเรื่องจากคุณประหยัด ถึงการปลูกมันแบบตัดยอด มีกระบวนการอย่างไร เป้าหมายวางไว้อย่างไร สำเร็จเพราะอะไร เกิดสิ่งใหม่คืออะไร และทำอย่างไรให้ยั่งยืน นอกจากเล่าเรื่องแล้ว ยังมีการดูแปลงสาธิต และทำให้ดู รวมทั้งให้ทดลองทำ ตลอดจนมีผลผลิตของการถอดองค์ความรู้มาเป็นหนังสือ คู่มือสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง แปลงสาธิตมันสำปะหลัง กำแพงเพชร ออกมา รวมทั้งคุณประหยัด เป็นวิทยากรให้แก่ผู้สนใจ ซึ่งกิจกรรมที่น่าจะเกิดต่อไป ก็คือ การนำผู้ที่สนใจเหล่านี้กลับมาแลกเปลี่ยนความรู้กันอีก เพื่อจะได้เกิดความรู้ชุดใหม่ขึ้น

ประสบการณ์ที่สาม ได้แก่ ป้าคำพัน เนื่องจากป้าคำพัน เป็นผู้ที่มีความรอบรู้มาก การเล่าเรื่องของป้าคำพัน จึงมีหลากหลายเรื่องรวมอยู่ในสิ่งที่เล่า เช่น มีท้้งเรื่องอาหาร ชีวประวัติ ประวัติชุมชน และนิเวศชุมชน จึงต้องวางแผนในการดึงเอาความรู้จากป้าคำพันออกมาในเรื่องของอาหาร เพียงเรื่องเดียว และวางเป้าหมายเรื่องอาหารของป้าคำพัน ออกมาเป็นหลักสูตรการสอนทำอาหารให้นักท่องเที่ยว จึงมีกระบวนการในถอดความรู้จากป้าคำพัน คือ เรื่องเล่า การวิเคราะห์เนื้อหา (สกัดความคิดรวบยอด) และประกอบสร้าง (การสร้างหลักสูตร) สุดท้าย จึงออกมาเป็น สำรับอาหารด่านซ้าย ประกอบด้วย เครื่องปรุง/วิธีการ ลำดับชั้นการสอน และการวัดผล

จากประสบการณ์ภาคสนาม ทั้งสามเรื่องนี้ สามารถสรุปได้ว่า การถอดความรู้จากปราชญ์ในชุมชนนั้น จะประกอบด้วย

  1. การเตรียม เตรียมตัวเรา ในการตั้งคำถาม ตัวปราชญ์ สถานที่ บรรยากาศ
  2. กำหนดกรอบ เป็นการกำหนดร่วมกันว่าจะออกมาเป็นอย่างไร
  3. ร่วมกันถอดความสำเร็จ เล่าประสบการณ์ สกัดความรู้
  4. สังเคราะห์และบันทึก เชื่อมโยง และเกิดความรู้ใหม่ และสุดท้ายเกิดเป็นนวัตกรรม

อาจารย์วัลลภ เล่าว่า จากประสบการณ์ภาคสนาม

  • การถอดความรู้ภาคสนาม คือ การค้นหาความรู้จากการปฏิบัติ และ การสร้างความรู้จากการปฏิบัติ เพราะถอดความรู้ แล้วเอาความรู้ไปไหน มีการแลกเปลี่ยน เกิดแผนผังกระบวนการ เกิดขั้นตอนการทำงาน เกิดกระบวนการเรียนรู้ระหว่างสกัดความรู้
  • การสร้างความรู้ขึ้นมาใหม่ การสร้างความรู้ขึ้นมา เพื่อพัฒนาความรู้ในการปฏิบัติครั้งต่อไป
  • เป็นการสังเคราะห์ มากกว่า การรวบรวม

การถอดความรู้จะสำเร็จได้ดีหรือไม่นั้น เกิดจาก

  1. คน
  2. การสนทนา
  3. การตั้งคำถาม
  4. การตรวจสะท้อนกลับ (ถามกลับ แสดงความคิดเห็น ความรู้สึก)

ดังนั้น เพื่อให้การถอดความรู้ประสบผลสำเร็จ ควรมีการพัฒนา

  1. ทักษะการวิเคราะห์ (Analysis Skill)
  2. ทักษะการสื่อสาร (Communication Skill)
  3. ทักษะออกแบบ (Design Skill) ออกแบบความรู้ออกมาเป็นอย่างไร ออกแบบตัวความรู้ใหม่ เช่น สำรับอาหาร
  4. ทักษะการประเมิน (Evaluation Skill) มีการตรวจสอบ