สืบเนื่องจาก กิจกรรม เรื่องเล่าจาก … Guru สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา คุณโสรัตน์ กาลออง เจ้าหน้าที่ห้องสมุด สังกัดฝ่ายสงวนรักษาทรัพยากรสารสนเทศ 1 ใน Guru ที่มาเล่าเรื่องชีวิตการทำงาน ตั้งแต่แรกเริ่มที่สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ความภาคภูมิใจในการทำงาน รวมทั้งข้อคิดที่ฝากให้กับน้องๆ
คุณโสรัตน์ กาลออง เล่าถึงการทำงานที่สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า เริ่มต้นทำงานที่สำนักหอสมุด มธ.ตั้งแต่ปี 2528 ถือเป็นที่ทำงานแห่งแรกและแห่งเดียวหลังจากที่เปลี่ยนชีวิตมาเป็นฆราวาส เพราะก่อนหน้านี้บวชเป็นพระภิกษุมาตลอด
ชีวิตการทำงานนั้น ทำงานซ่อมหนังสือมาตลอด เริ่มแรกสังกัดฝ่ายวิเคราะห์บัตรรายการหนังสือภาษาไทยอยู่ประจำห้องซ่อม จนกระทั้งสำนักหอสมุดเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ งานซ่อมหนังสือได้โอนมาอยู่ฝ่ายสงวนรักษาทรัพยากรสารสนเทศจนถึงปัจจุบัน
“งานซ่อมหนังสือถือเป็นงานที่ละเอียดอ่อน ประณีต ต้องอาศัยใจรักอย่างมาก ถ้าคนที่ไม่ชอบและไม่รักหนังสือจริงๆ ก็คงไม่สามารถทำได้ เพราะด้วยสภาพของการทำงานที่ต้องอยู่กับหนังสือเก่า เจอฝุ่นและสารเคมี ช่วงแรกของการทำงานด้วยความที่ใจรักหนังสืออยู่ก่อนแล้ว ถือเป็นการเรียนรู้การทำงานใหม่ แต่พอทำมาได้สักระยะเริ่มรู้สึกว่าอยากหาความรู้ใหม่ๆ มาพัฒนางานของตัวเอง เพราะสมัยนั้น การซ่อมหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือหายาก ยังไม่ค่อยเป็นระบบเท่าที่ควร คือ ยังไม่มีการคัดแยกกลุ่มหนังสือหายาก และหนังสือทั่วไป วิธีการซ่อมที่ทำอยู่ไม่มั่นใจว่าถูกต้องหรือไม่ จนกระทั่งสำนักหอสมุดได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างห้องสมุดและมีการจัดตั้งฝ่ายสงวนรักษาทรัพยากรสารสนเทศ โดยมีคุณจันทร์เพ็ญ เล่าอิทธิโชติ เป็นหัวหน้าฝ่ายฯ ได้ให้โอกาสไปศึกษาเรื่องการซ่อมหนังสือหายากที่ประเทศอินเดีย”
คุณโสรัตน์ เล่าอีกว่า การไปอินเดียถือเป็นความฝัน และเป็นโอกาสที่ดีที่สุดในชีวิต ทำให้ได้เรียนรู้วิธีการซ่อมหนังสือหายาก และเอกสารที่เป็นในรูปกระดาษอย่างจริงจัง ได้เรียนรู้เทคนิคการซ่อมหนังสือที่ถูกต้อง และได้นำความรู้มาพัฒนางานซ่อมหนังสือหายากที่สำนักหอสมุด โดยได้รับการสนับสนุนจากคุณจันทร์เพ็ญ เป็นอย่างดี มีการวางระบบการซ่อมหนังสือหายาก โดยคัดแยกและจัดประเภทของการซ่อมหนังสือ จัดหาอุปกรณ์ที่มีความสำคัญในการทำงานซ่อมหนังสือ แต่เสียดายที่ตนเองไม่มีความรู้ทางด้านศิลปะเพราะในกระบวนการจัดการเอกสารหายาก ยังมีสิ่งพิมพ์ประเภทอื่นๆ อีกมากมายที่ควรได้รับการอนุรักษ์ไว้เช่น ภาพวาด เป็นต้น
การใช้ชีวิตในประเทศอินเดียถือเป็นประสบการณ์ที่ดี ได้เรียนรู้การเอาตัวรอด และฝึกความอดทนเพราะด้วยความอ่อนเรื่องภาษาอังกฤษ ทำให้เราต้องขยันมากกว่าเพื่อนๆ ที่มาฝึกอบรมด้วยกัน เพราะเพื่อนๆ จะเก่งภาษาอังกฤษมากกว่า เวลาจะทำงานส่งอาจารย์ในชั้นเรียนเราจะส่งช้ากว่าคนอื่น เพราะต้องจดเป็นภาษาไทยก่อนแล้วจึงมาแปลเป็นภาษาอังกฤษอีกรอบ
รู้สึกภูมิใจที่ได้ทำงานซ่อมหนังสือหายาก ที่สำนักหอสมุด มธ. ซึ่งบางคนอาจจะไม่ชอบ และเห็นว่าเป็นงานที่น่าเบื่อที่ต้องคลุกอยู่กับหนังสือเก่าๆ ขาดๆ แถมบางเล่มกว่าจะซ่อมเสร็จต้องใช้ระยะเวลาเป็นเดือน คนที่จะทำงานนี้ได้ต้องมีใจรักจริงๆ ซึ่งการได้อยู่กับหนังสือหายากมาตลอดชีวิตทำให้เราได้เรียนรู้ถึงวิวัฒนาการของตัวอักษรและการเปลี่ยนแปลงของภาษาที่มีการบันทึกในหนังสือไปในตัวด้วย
สิ่งที่อยากจะฝากไว้กับพวกน้องๆ ขอให้ถือว่าทรัพยากรสารสนเทศทุกชนิดเป็นสิ่งมีชีวิต ช่วยกันดูแลรักษาให้มีอายุยืนนาน เพื่อประโยชน์กับผู้ใช้บริการ และช่วยกันรักษาเพื่ออนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเล่าเรียนกันต่อไป
คุณโสรัตน์ได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและเรื่องอื่นๆ ไว้ใน Blog หลายเรื่อง ได้แก่
- เส้นทางแห่งความพ้นทุกข์
- จากคัมภีร์พระไตรปิฏกสู่ใบลาน
- มนุษย์
- ช่วงเวลาที่ฉันเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้านของเธอ
- เหตุเกิดบนท้องถนน
นอกจากนี้ คุณโสรัตน์ ได้ถ่ายทำวิดีทัศน์การสงวนรักษาทรัพยากรสารสนเทศไว้ ซึ่งจะได้นำขึ้นเผยแพร่ต่อไป