ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์

จากการเข้าร่วมฟังการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิสำหรับห้องสมุดและหอจดหมายเหตุ โดย กรมทรัพย์สินทางปัญญา วันพุธที่ 17 ธันวาคม 2557 เวลา 09.00-17.00 น. ณ ห้องประชุมอโนมา 1 โรงแรมอโนมา กรุงเทพฯ นั้น

การเปิดงานและบรรยายพิเศษ
การเปิดงานและบรรยายพิเศษ

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่เป็นบรรณารักษ์ นักเอกสาร หรือผู้ปฏิบัติงานในการให้บริการสารสนเทศ เพราะหัวข้อบ่งบอกอย่างตรงๆ ว่า เกี่ยวข้องกับการทำงานของผู้ปฏิบัติงานในห้องสมุด และหอจดหมายเหตุ ที่ปฏิบัติงานด้วยความไม่มั่นใจในกิจกรรมบางอย่าง ที่ดำเนินการอยู่ ในการสัมมนาวันนั้น วลีที่พูดกันบ่อยมาก ก็คือ Three-step test ของสนธิสัญญากรุงเบิร์น (ถ้าไม่ขัดต่อ 3 ขั้นนี้ หมายความถึง ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์) ใช้กับสิทธิผูกขาดเฉพาะตัวเกี่ยวกับการทำซ้ำโดยมาตรา 9 (2) ต่อมาได้ขยายไปสู่ข้อตกลงทริปส์ (Agreement on Trade Related Aspects of Intellectual Property Rights – TRIPs Agreement) มาตรา 13, WIPO Copyright Treaty (WCT) มาตรา 10 และ WIPO Performances and Phonograms Treaty (WPPT) มาตรา 16 เป็นต้น Three-step test (ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์) หมายรวมถึง

  1. กรณีเฉพาะ (certain special cases)
  2. ไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์ จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ (do not conflict with a normal exploitation of a work)
  3. ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร (do not unreasonably prejudice the legitimate interests of the author)

ผู้ปฏิบัติงานในห้องสมุด ก็ต้องพิจารณาว่า กิจกรรมที่ปฏิบัติอยู่นั้น มีอะไรที่เหมือนจะเข้าข่ายการละเมิด และอะไรที่อยู่ในข่ายข้อยกเว้นการละเมิด ก็ต้องพิจารณาจาก Three-step test เป็นหลัก

ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ WIPO ปี 2012 เห็นชอบให้มีการหารือเพื่อจัดทำ “International legal instrument (s)” (model law, joint recommendation, treaty และ/หรือรูปแบบอื่น) โดยให้มีข้อเสนอแนะต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่ประมาณช่วงการประชุม SCCR ครั้งที่ 28 (ปี 2014) โดยมีประเด็นหารือข้อยกเว้นสำหรับห้องสมุดและหอจดหมายเหตุ คือ

  • การสงวนรักษา (Preservation)
  • สิทธิในการทำซ้ำและเก็บรักษาสำเนา (Right of reproduction and safeguarding copies)
  • การจดแจ้ง (Legal deposit)
  • การให้ยืม (Library lending)
  • การนำเข้าซ้อน (Parallel importations)
  • การใช้ข้ามพรมแดน (Cross-border uses)
  • ลิขสิทธิ์กำพร้า งานที่ถูกเก็บคืน และงานที่ไม่วางตลาดแล้ว (Orphan works, retracted and withdrawn works, and works out of commerce)
  • ข้อจำกัดความรับผิดชอบของห้องสมุดและหอจดหมายเหตุ (Limitations on liability of libraries and archives)
  • การคุ้มครองมาตรการทางเทคโนโลยี (Technological measures of protection)
  • สัญญา (Contract)
  • สิทธิในการแปล (Right to translate works)

โดยมีเอกสารในหารือ ได้แก่

สำหรับประเทศไทย มีพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ส่วนที่ 6  ระบุข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์

  • มาตรา 32 การกระทำแก่งานอันมีสิทธิ์ของบุคคลอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ หากไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
    ภายใต้บังคับบทบัญญัติในวรรคหนึ่ง การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามวรรคหนึ่ง มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
    (1) วิจัยหรือศึกษางานนั้น อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
    (2) ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นในครอบครัวหรือญาติสนิท
    (3) ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
    (4) เสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
    (5) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของศาลหรือเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือในการรายงานผลการพิจารณาดังกล่าว
    (6) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏโดยผู้สอนเพื่อประโยชน์ในการสอนของตน อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
    (7) ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนของงาน หรือตัดทอนหรือทำบทสรุปโดยผู้สอนหรือสถาบันศึกษา เพื่อแจกจ่ายหรือจำหน่ายแก่ผู้เรียนในชั้นเรียนหรือในสถาบันศึกษา ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการกระทำเพื่อหากำไร
    (8) นำงานนั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถามและตอบในการสอบ
  • มาตรา 33 การกล่าว คัด ลอก เลียน หรืออ้างอิงงานบางตอนตามสมควรจากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้้ โดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้ปฏิบัติตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง
  • มาตรา 34 การทำซ้ำโดยบรรณารักษ์ของห้องสมุดซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากการทำซ้ำนั้นมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหากำไร และได้ปฏิบัติตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้
    (1) การทำซ้ำเพื่อใช้ในห้องสมุดหรือให้แก่ห้องสมุดอื่น
    (2) การทำซ้ำงานบางตอนตามสมควรให้แก่บุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ในการวิจัยหรือการศึกษา
  • มาตรา 35 การกระทำแก่โปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อหากำไร และได้ปฏิบัติตามมาตรา 32 วรรคหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้
    (1) วิจัยหรือศึกษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น
    (2) ใช้เพื่อประโยชน์ของเจ้าของสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น
    (3) ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น
    (4) เสนอรายงานข่าวทางสื่อมวลชนโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น
    (5) ทำสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในจำนวนที่สมควรโดยบุคคลผู้ซึ่งได้ซื้อหรือได้รับโปรแกรมนั้นมาจากบุคคลอื่นโดยถูกต้อง เพื่อเก็บไว้ใช้ประโยชน์ในการบำรุงรักษาหรือป้องก้ันการสูญหาย
    (6) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของศาลหรือเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือในการรายงานผลการพิจารณาดังกล่าว
    (7) นำโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถามและตอบในการสอบ
    (8) ดัดแปลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในกรณีที่จำเป็นแก่การใช้
    (9) จัดทำสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อเก็บรักษาไว้สำหรับการอ้างอิงหรือค้นคว้าเพื่อประโยชน์ของสาธารณชน

รายการอ้างอิง

นุสรา กาญจนกูล, “ความตกลงระหว่างประเทศด้านลิขสิทธิ์และผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์” (เอกสารประกอบการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์สำหรับห้องสมุดและหอจดหมายเหตุ จัดโดย กรมทรัพย์สินทางปัญญา ณ ห้องประชุมอโนมา 1 โรงแรมอโนมา กรุงเทพฯ)

“พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537”, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 111 ตอนที่ 59 ก (21 ธันวาคม 2537), 1-22. สืบค้นเมื่อ 18 ธันวาคม 2557 จาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2537/A/059/1.PDF

World Intellectual Property Organization. 2001. Regional Workshop on Copyright and Related Rights in the Information Age. Retrieved Dec 18, 2014 from  http://www.wipo.int/edocs/mdocs/copyright/en/wipo_cr_mow_01wipo_cr_mow_01_2.pdf