ก่อร่างสร้างศูนย์การเรียนรู้ Learning Centre

บทสัมภาษณ์ : ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ริเริ่มศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

ศ. ดร.สุรพล นิติไกรพจน์
ศ. ดร.สุรพล นิติไกรพจน์

จุดเริ่มต้นศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

จุดเริ่มต้นศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เกิดจากแนวคิดเมื่อ 4-5 ปีก่อน ว่าธรรมศาสตร์ควรทำอะไรเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่มิใช่การก่อสร้างเพียงอนุสาวรีย์ แต่ควรจะเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่ท่านได้ให้ไว้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งสิ่งที่ท่านให้กับนักศึกษาธรรมศาสตร์ตลอดช่วงระยะเวลาที่ท่านได้เป็นพระอาจารย์ ถือเป็นสิ่งใหม่ที่เหมาะสำหรับการเรียนรู้ในยุคศตวรรษที่ 21 สำนักหอสมุดและคณะศิลปศาสตร์จึงได้นำเสนอโครงการก่อสร้างห้องสมุดใหม่ แต่คำว่าห้องสมุดใหม่ที่นำเสนอนั้น เป็นห้องสมุดที่ต่างไปจากเดิม เป็นห้องสมุดที่ไม่มีหนังสือ ไม่มีผนัง ไม่มีเจ้าหน้าที่ ไม่เข้มงวดเหมือนห้องสมุดทั่วไป เป็นห้องสมุดที่เปิดโล่ง เหมาะสำหรับการค้นคว้าในศตวรรษที่ 21 มีที่อ่านหนังสือ มีที่นอน มีที่นั่งเล่น ให้บรรยากาศสบายๆ ซึ่งอาคารศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์แห่งนี้ได้สะท้อนแนวคิดเริ่มต้นได้เป็นอย่างดี

เสรีภาพแห่งการเรียนรู้ด้วยตนเอง

การเรียนรู้ในยุคสมัยนี้เปลี่ยนไปจากเดิมค่อนข้างมาก ศูนย์การเรียนรู้ ที่เราเรียกกันในภาษาอังกฤษว่า Learning Center แต่ไม่ใช่ Teaching Center เป็นการสะท้อนมุมคิดของการศึกษาในมหาวิทยาลัยยุคใหม่ว่าเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่ใช่การสอนโดยอาจารย์เหมือนในสมัยก่อนอีกต่อไป ศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์แห่งนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงการเรียนรู้ด้วยตนเอง และตอบความเป็นธรรมศาสตร์ทั้งในแง่ของอุดมการณ์ อัตลักษณ์ เจตคติ และค่านิยมในด้านของเสรีภาพ ซึ่งมิใช่เสรีภาพในรูปแบบของกิจกรรมทางการเมือง แต่เป็นเสรีภาพแห่งการเรียนรู้ ที่นักศึกษาสามารถเลือกทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างเสรี ไม่ว่าจะนั่งอ่านหนังสือ ค้นข้อมูล นอนเล่น ดูหนัง พักผ่อน พูดคุยหรือหารือกัน แต่ต้องทำด้วยความรับผิดชอบโดยไม่รบกวนผู้อื่น นอกจากนั้น ด้วยลักษณะของอาคารที่เปิดโล่ง เป็นกระจกรอบด้าน บ่งบอกถึงการเปิดเผย ไม่ปกปิด แสดงให้เห็นว่านักศึกษาต้องไม่กลัวที่คนอื่นจะมองและยอมรับในการกระทำของตัวเอง

คือความภาคภูมิใจของธรรมศาสตร์

หากมองย้อนกลับไป ณ วันที่ริเริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน ศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ถือเป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากที่เคยไปเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ได้สะท้อนให้เห็นถึงยุคใหม่ของศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเอง อาจจะเรียกได้ว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่มีอาคารศูนย์การเรียนรู้ขนาดใหญ่ขนาดนี้ นอกจากนั้นยังเป็นอาคารที่มีความพร้อมสมบูรณ์ทั้งในด้านทรัพยากรและอุปกรณ์ที่จำเป็น อาคารแห่งนี้จึงเรียกได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่เริ่มต้นจากการเรียนรู้ด้วยตนเอง
“นับตั้งแต่สมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ริเริ่มการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ตามแบบตะวันตก โดยให้นักศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง เปิดโอกาสให้นักศึกษาพูด เถียง ถาม ค้น และมีส่วนร่วมกับการเรียนการสอน ครั้งทรงเป็นพระอาจารย์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 50 ปีก่อนนั้น ซึ่งถือเป็นสิ่งใหม่และเป็นแบบอย่างของการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาต่อมา อาคารแห่งนี้ก็เช่นกัน ได้สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งใหม่ๆ ของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และทิศทางการเรียนการสอนในยุคปัจจุบัน นักศึกษาต้องมีความพร้อมและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ นอกจากนั้นอาคารแห่งนี้ยังสอนให้นักศึกษาได้เห็นถึงชีวิตในวันข้างหน้าที่ต้องเผชิญ โลกของการทำงานจริงที่ต้องคิดและนำเสนอวิธีการทำงานด้วยตนเอง”

บทความที่เกี่ยวข้อง

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดอาคารศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

ศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

ธรรมศาสตร์ ผู้นำแห่งการเรียนรู้ยุคใหม่

ศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ฉากสะท้อนเสรีภาพแห่งการเรียนรู้