ธรรมศาสตร์ ผู้นำแห่งการเรียนรู้ยุคใหม่

บทสัมภาษณ์: ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์
อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อธิการบดี สมคิด เลิศไพฑูรย์
อธิการบดี สมคิด เลิศไพฑูรย์

แนวคิดการก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

ศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2554 มาแล้วเสร็จในปี 2557 โดยแนวคิดหลักในการก่อสร้างอาคารแห่งนี้เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในฐานะที่ท่านเคยเป็นพระอาจารย์ และให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของนักศึกษา เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเองของนักศึกษาธรรมศาสตร์ เป็นสถานที่ให้นักศึกษาได้เข้ามาเรียนรู้ด้วยตนเองเพิ่มเติมจากการเรียนในห้องเรียน เพราะในโลกวิชาการที่แท้จริง ยังมีสิ่งต่างๆ มากมายให้นักศึกษาได้เรียนรู้นอกเหนือจากวิชาเรียนในห้องเรียน โดยเฉพาะในศูนย์การเรียนรู้ฯ และห้องสมุด ซึ่งมหาวิทยาลัยได้จัดหาทรัพยากรสารสนเทศต่างๆ ไว้ให้แก่นักศึกษาได้เข้ามาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม หรือเข้ามาทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาตนเอง ไม่ว่าจะเป็น การอ่านหนังสือ การทำการบ้าน การพบปะพูดคุยกัน ดังคำขวัญที่ติดไว้ด้านหน้าหอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ ว่า Knowledge is power หรือ ความรู้ คือ พลัง คือ อำนาจ

เป้าหมายของธรรมศาสตร์ในอนาคต

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีเป้าหมายคือการเป็นมหาวิทยาลัยผู้นำแห่งการเรียนรู้ยุคใหม่ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต้องเป็นผู้นำของการเรียนรู้ โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่เรียกว่า Active Learning หรือ การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เพราะในอนาคตโลกของการเรียนรู้ มิใช่โลกในห้องเรียน หรือห้องสี่เหลี่ยมอีกต่อไป แต่เป็นโลกที่เต็มไปด้วยความรู้มากมายนอกห้องเรียน ห้องเรียนในอนาคตจะเล็กลง อาจารย์จะเป็นเพียงผู้ชี้แนะแนวทางเท่านั้น นักศึกษาจะเป็นผู้ตัดสินใจ เป็นผู้นำเสนอและมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนมากขึ้น

ศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตอบสนองเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยทุกประการ โดยทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีความพร้อมทั้งในด้านสถานที่ที่เปิดกว้างทุกวัน และตลอด 24 ชั่วโมง เหมาะสำหรับการเรียนรู้ได้ตลอดเวลา มีอุปกรณ์ที่เอื้ออำนวยให้แก่นักศึกษาได้เรียนรู้ด้วยตนเองอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้ของนักศึกษาให้เป็นผู้นำการเรียนรู้ที่สมบูรณ์แบบ ตามเป้าหมายของมหาวิทยาลัยในการผลิตบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เป็นผู้นำของการเรียนรู้ มีความพร้อมทั้งความรู้และคุณธรรม เพื่อนำความรู้ที่มีไปพัฒนาตนเอง พัฒนาผู้อื่น พัฒนาชุมชน พัฒนาสังคม รวมไปถึงการพัฒนาและสร้างประเทศชาติที่มั่นคงต่อไป

ธรรมศาสตร์ยืนหยัดเพื่อประชาชน

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังคงยืนหยัดเพื่อประชาชน และทำหน้าที่เป็นดังบ่อน้ำที่บำบัดความกระหายให้กับประชาชนมาตลอดระยะเวลา 80 ปี ดังคำกล่าวที่ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การณ์คนแรกของมหาวิทยาลัยได้กล่าวไว้ในวันสถาปนามหาวิทยาลัยที่ว่า “…มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาส ที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักเสรีภาพของการศึกษา…” ซึ่งนอกจากศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่มหาวิทยาลัยจัดเตรียมไว้ให้แก่นักศึกษาเพื่อการส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเองแล้ว ยังมีห้องสมุด การปรับพื้นที่หอพักเน้นการทำกิจกรรมร่วมกัน ห้องเรียนที่จัดเตรียมอุปกรณ์ไว้ให้พร้อม มีห้องคอมพิวเตอร์ ห้องรัสเซีย ห้องอาเซียน ที่พร้อมให้นักศึกษาได้เข้ามาค้นคว้าและหาความรู้ด้วยตนเอง เพื่อการเป็นคนที่สมบูรณ์แบบทั้งความรู้และคุณธรรม

บทความที่เกี่ยวข้อง:

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดอาคารศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

ศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

ก่อร่างสร้างศูนย์การเรียนรู้ LEARNING CENTRE

ศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ฉากสะท้อนเสรีภาพแห่งการเรียนรู้