เราจะใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข

คำว่า “เกษียณ” แปลว่า สิ้นไป ซึ่งในทางราชการ จะใช้คำว่า “เกษียณอายุ” หมายถึง ครบกำหนดอายุรับราชการ หรือสิ้นกำหนดเวลารับราชการ ก็คือ เมื่อผู้นั้นมีอายุตัวครบ ๖๐ ปี

ช่วงสุดท้าย คือ หลัง ๖๐ ปีน่าจะเป็นวัยที่มีความสุขที่สุด เพราะเป็นการปลดเปลื้องภารกิจ และความรับผิดชอบอันหนักอึ้งออกจากบ่า แต่โดยแท้จริงแล้ว ผู้เกษียณอายุจำนวนไม่น้อย ที่ต้องออกจากสังคม ออกจากสิ่งแวดล้อมที่คุ้นชินมาหลายสิบปี ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ทำงาน เพื่อนฝูง ฯลฯ อาจจะเกิดความเหงา เศร้าซึม     รู้สึกตัวเองไร้ค่าหรือไม่ได้รับการยอมรับเหมือนอย่างเคยหรือบางคนเกิดเสียดายอำนาจ ความสะดวกสบายที่เคยได้รับ จนเกิดปัญหาทางสุขภาพทั้งกายและใจ กลายเป็นคนขาดความสุขหรืออายุสั้นได้ในที่สุด

การเกษียณเป็นวิกฤตการณ์อย่างหนึ่งของชีวิต เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น การวางแผนชีวิตในวัยหลังเกษียณจึงมีความสำคัญและจำเป็นพอๆ กับการวางแผนการศึกษาในวัยเด็ก และวางแผนการทำงานในวัยผู้ใหญ่ การวางแผนที่ดีจะเป็นกุญแจสู่ชีวิตที่มีความสุข มีอายุยาวนานอย่างมีคุณภาพ และทำให้ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุด เมื่อคนเราเกษียณแล้ว ถือเป็นโอกาสใหม่อีกครั้งที่จะได้เปลี่ยนแปลงบทบาทของชีวิต หรือเริ่มชีวิตใหม่ตามที่ตนปรารถนาได้

กล่าวกันว่า อันตราย ๓ ประการของผู้เกษียณอายุ คือ ความกลัวปัญหาความเสื่อมโทรมใน ๓ ด้าน คือ ๑. ด้านสุขภาพอนามัย ๒. ด้านสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจ ๓. ด้านสังคมและจิตวิทยา

ด้านสุขภาพอนามัย

หลายคนเมื่อเกษียณ ช่วงต้นอาจจะรู้สึกดี เพราะไม่ต้องรีบตื่นเช้า แต่พอนานๆ ไป กลับเกิดความรู้สึก ตื่นแล้วไม่รู้จะทำอะไร ที่ไหนดี เกิดความเซ็ง เบื่อ และไม่สบายใจ จนมีผลต่อสุขภาพจิต แล้วก็เลยเกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมา หรือบางคนรู้สึกว่าตนยังทำงานได้ แต่ไม่ได้ทำงานแล้ว เกิดความคับข้องใจ หลายๆ คน หน้าที่การงานทำให้ได้ออกไปพบปะสังคมกับผู้คน ครั้นเกษียณต้องอยู่บ้านคนเดียว หรือแม้จะอยู่กับครอบครัว แต่สภาพการเปลี่ยนไป ก็อาจเกิดภาวะ “เฉา” ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้เช่นกัน

ด้านเศรษฐกิจ

เป็นธรรมดาว่าเมื่อเกษียณแล้ว รายได้ต่างๆ ย่อมลดน้อยถอยลงไปด้วย หากผู้เกษียณไม่กำหนดแผนการใช้จ่ายให้ดี หรือบางคนยังติดยึดอยู่กับตำแหน่ง ฐานะเดิม แม้เกษียณแล้ว ก็ยังพยายามทำตนให้เหมือนตอนที่ยังใหญ่โตอยู่ ทั้งๆ ที่รายได้น้อยลงแล้ว ก็ย่อมจะก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจได้ ดังนั้น ผู้เกษียณจึงต้องทำใจ อย่ายอมให้สังคมมาเป็นผู้กำหนด หรืออย่านำตัวไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น

ด้านสังคมและจิตวิทยา

เมื่อเกษียณอายุ ภาพลักษณ์ของคนเราย่อมเปลี่ยนแปลงไป หลายคนอาจจะรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ไร้ประโยชน์ เกิดความสูญเสีย เพราะไม่มีตำแหน่งหน้าที่ ไม่มีคนนับหน้าถือตาเช่นที่เคยมา ผู้คนที่เคยห้อมล้อมหายไป คนที่เคยมาประจบก็เลิกประจบ ไม่เกรงอกเกรงใจเราอีกต่อไป เพราะไม่สามารถให้คุณให้โทษแก่เขาได้แล้ว เช่นนี้ หากเราไม่เตรียมใจไว้ให้พร้อม ปัญหาข้อนี้ก็จะทำร้ายจิตใจเราได้ทันทีที่เกษียณ

ดังนั้น เราจึงควรตระหนักให้ดีว่า ตำแหน่งเหล่านี้ ก็เป็นดัง “หัวโขน” ที่ถอดออกเมื่อไร เราก็เป็นเช่นคนอื่นๆ หากเราปฏิบัติตนดีมาตลอด คนก็ย่อมเคารพนับถือไม่เสื่อมคลาย แม้เราจะเกษียณไปแล้ว เขาก็ยังศรัทธาในคุณงามความดีของเราอยู่ ถึงไม่มีตำแหน่ง เขาก็ยังจะดีและเคารพรักเราเช่นเดิม ดังนั้น อย่ายึดติดกับหัวโขน แต่จงทำดีกับผู้อื่นโดยสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะอยู่ตำแหน่งใดก็ตาม

ปัญหาทั้งสามด้าน เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น

และมักสร้างความปริวิตกแก่ผู้เกษียณอายุไม่น้อย อย่างไรก็ตาม หากเรามีการเตรียมพร้อมไว้เป็นอย่างดี การเกษียณ ก็จะเป็นเพียงการปลดเปลื้องตัวเองออกจากภาระประจำที่ผูกมัดเรามาหลายปี แน่นอนว่า ไม่มีใครจะหลีกหนีสภาพความแก่ชรา และความตายไปได้ ในปัจจุบันโลกก้าวไปอย่างรวดเร็ว มีเทคโนโลยีใหม่ๆ มากมาย สิ่งต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

แนวคิดในเรื่องเกษียณอายุก็เช่นกัน การสิ้นสุดอาชีพเดิม มิได้หมายความว่า ชีวิตการทำงานจะจบสิ้นลงเพียงนี้ แต่อาจหมายถึงการปรับเปลี่ยนชีวิตไปสู่สิ่งใหม่ ซึ่งสิ่งนี้ก็อาจจะนำความสุข เงินทอง หรือเพื่อนฝูงใหม่ๆ มาสู่เราก็ได้ เพราะเมื่อเราเกษียณอายุ เราก็ไม่ต้องไปทะเยอทะยานแย่งตำแหน่งกับใคร ไม่ต้องไปกังวลหรือเครียดกับงาน ได้อยู่ห่างจากคนที่เราไม่ชอบ มีเวลาที่จะทำอะไรๆ ได้มากขึ้น เช่น เรียนภาษา ฝึกวาดภาพ ทำอาหาร หรือเดินทางท่องเที่ยว เป็นต้น เรียกว่าชีวิตมีอิสระขึ้น มีโอกาสเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพิ่มขึ้น

อันที่จริง การเตรียมความพร้อมเพื่อวัยเกษียณอายุ ควรจะมีการวางแผนล่วงหน้าไว้หลายๆ ปี แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว คนส่วนใหญ่ก็มักจะวางแผนอย่างที่เรียกกันสนุกๆ ว่า “แพลนนิ่ง” (Planning) คือ แพลน แล้ว นิ่ง ไปเลย หมายถึง ไม่ได้ทำอย่างจริงจัง หรือ มักจะวางแผน แบบ ไม่มีแผน คือ นึกจะทำอะไรก็ทำ ซึ่งบางเรื่องก็ทำได้ แต่บางเรื่องก็อาจจะก่อให้เกิดความทุกข์หรือปัญหาภายหลังได้

จากที่กล่าวมาว่า ปัญหาหรืออันตรายสำหรับผู้เกษียณอายุมีอยู่ ๓ เรื่องข้างต้น ดังนั้น การที่เราจะใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้นั้น จึงจำเป็นที่จะต้องขจัด และลดปัญหาดังกล่าวให้หมดไปหรือมีให้น้อยที่สุด ด้วยการปฏิบัติ ดังนี้

ด้านสุขภาพทางร่างกาย

ผู้เกษียณอายุควรหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยอาจจะไปตามฟิตเนต ศูนย์การค้า หรือสวนสาธารณะ ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกออกกำลังกายได้สารพัด ไม่ว่าจะเป็นแอโรบิก โยคะ รำมวยจีน ฝึกลมปราณ ฯลฯ การไปออกกำลังกายแบบนี้ นอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรง ไม่ค่อยเจ็บป่วย จิตใจแจ่มใส รู้สึกกระชุ่มกระชวยแล้ว ยังทำให้ได้เพื่อนใหม่ๆ หลายรุ่นหลายวัย และหากเป็นวัยเดียวกัน ก็ยังสามารถพูดคุยปรึกษาปัญหาที่คล้ายๆ กันได้ เพียงแต่เราต้องเปิดใจให้กว้าง เพราะเพื่อนแต่ละสถานที่ ก็จะมีบุคลิกลักษณะแตกต่างกันไป แต่ถ้าเราชอบสมาคม เราก็จะมีความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ซึ่งเพื่อนกลุ่มออกกำลังกาย หลายคนก็กลายมาเป็นเพื่อนเที่ยว เพื่อนซี้ได้

นอกจากระมัดระวังเรื่องสุขภาพแล้ว ผู้เกษียณอายุไม่ว่าผู้หญิงหรือชายควรดูแลความสะอาด และการแต่งเนื้อแต่งตัวของเราให้สวยงาม สดชื่น เหมาะกับวัยด้วย อย่าคิดว่า เมื่อไม่ไปทำงานแล้ว ก็ไม่รู้จะแต่งตัวให้ใครดู เลยปล่อยเนื้อปล่อยตัว เป็นตาแก่หรือยายเพิ้ง หรือไม่ก็แต่งจนเกินธรรมชาติเกินวัย เป็นที่หัวเราะเยาะว่าไม่เจียมตัว ดังนั้น จึงควรแต่งตัวให้สวยงามสมวัย และเหมาะสม ซึ่งจะทำให้เราได้รับการยอมรับ ขณะเดียวกันก็ทำให้จิตใจเราสดชี่น สบายใจ เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้ตัวเองอีกด้วย

ด้านเศรษฐกิจ

นับว่าเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อย เพราะหากเรามีรายได้ที่ลดลง แต่รายจ่ายยังคงที่ หรือมากกว่าเดิม แล้วเราไม่เตรียมการไว้ให้ดี หลังเกษียณจะต้องเดือดร้อนแน่นอน ดังนั้น เราจึงต้องมีการวางแผนการเงินไว้ล่วงหน้าบ้าง ดูรายรับรายจ่ายให้สมดุลกัน รู้จักทำบัญชีหรือควบคุมค่าใช้จ่ายให้รัดกุม ต้องรู้จักประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือยหรือใช้จ่ายในสิ่งไม่จำเป็น เช่น เสื้อผ้า เครื่องสำอาง อาหารบางชนิด เหล้า บุหรี่ หรือการเที่ยวสถานเริงรมณ์ เป็นต้น และหากยังมีภาระครอบครัว เช่น ต้องส่งเสียลูกที่ยังเล็ก ต้องผ่อนบ้านหรือรถ ฯลฯ ก็ควรมีการวางแผนการใช้เงินหรือการหาเงินตั้งแต่ก่อนเกษียณแต่เนิ่นๆ เพื่อมิให้เกิดความเครียดจนกลายเป็นปัญหาครอบครัวภายหลัง ถ้ามีคู่ครองก็ควรปรึกษาหารือกันแต่ต้น ว่าจะทำอะไร ต่อไปอย่างไรหลังเกษียณแล้ว

ด้านสังคมและจิตวิทยา

ผู้เกษียณอายุไม่ควรแยกตัวออกจากสังคม หรือเก็บตัวเงียบอยู่แต่ในบ้าน แต่ควรออกไปคบหาสมาคมกับเพื่อนฝูง และนัดสังสรรค์กันบ้าง เพื่อให้ชีวิตสดชื่น ไม่เหี่ยวเฉา ขณะเดียวกัน อาจจะใช้เวลาว่างไปทำงานอดิเรกที่ชอบ หรือทำในสิ่งที่เคยคิดเคยฝันว่าจะทำแต่ยังไม่ได้ทำ เช่น เรียนต่อปริญญาโทหรือเอก หัดเต้นรำ ฝึกใช้คอมพิวเตอร์ ศึกษาวิชาโหราศาสตร์ เป็นอาจารย์สอนพิเศษ เป็นต้น ซึ่งไม่แน่ว่าสิ่งเหล่านี้ อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต อาชีพ และให้ประสบการณ์แปลกใหม่อย่างที่เราไม่เคยประสบมาก่อน เรียกว่าเป็นการสานฝันให้เป็นจริงก็ได้

นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว สิ่งที่คนเกษียณ ควรจะปฏิบัติในการอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว แม้จะเป็นคนในครอบครัวเราเองก็ตาม ก็คือ อย่าทำตัวเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในครอบครัวหรือหมู่คณะ อย่าทำตัวชอบยุ่งเรื่องคนอื่นถ้าไม่ได้รับการร้องขออย่าใช้ความแก่เป็นข้ออ้างเพื่อสิทธิพิเศษ อย่าพูดมาก อย่าพล่ามแต่อดีต อย่าเรียกร้องความเห็นอกเห็นใจตลอดเวลา อย่าจู้จี้ขี้บ่น
โดยเฉพาะหลายคนเมื่อเกษียณแล้ว มีเวลาอยู่กับคู่ครองหรือครอบครัวมากขึ้น ควรจะใช้เวลาดังกล่าวให้เป็นประโยชน์ ข้อสำคัญ คนวัยนี้ควรประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีในครอบครัวหรือสังคม ไม่ตัณหากลับ แต่ควรตั้งตนในสิ่งที่ถูกต้อง มีศีลมีธรรม และควรเป็นคนที่ผู้น้อยเคารพได้อย่างสนิทใจ

สิ่งที่กล่าวมานี้ หวังว่าคงจะเป็นแนวทางให้ผู้เกษียณอายุได้เริ่มต้น “ชีวิตใหม่” อย่างมีความสุขทั้งกายและใจต่อไป

ที่มา

สุขใจ-วัยเกษียณ.   สืบค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธุ์ 2558, จาก

http://www.scbam.com/v2/user_upload/pvd/55+club/Peacefulness6.pdf