All posts by นางทศวรรณ ปาสาบุตร

ยาปฏิชีวนะ และ ยาแก้อักเสบ มันคนละชนิดกัน

อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ แบบนี้ควรดูแลสุขภาพกันให้ดีดีนะคะ แต่ถ้าใครไม่สบายแล้วก็ควรไปพบแพทย์หรือถ้าหากจะซื้อยากินเองหรือกินยาสามัญประจำบ้านก็ควรต้องศึกษากันหน่อยนะคะ เพราะยาบางชนิดต้องกินตามที่แพทย์สั่งและต้องกินยาให้หมดไม่ว่าอาการของไข้จะหายแล้วก็ตามอย่างน้อยก็ก็ป้องกันการดื้อยาคะ
ยาที่คนส่วนใหญ่เข้าใจยา 2 ชนิดนี้ผิด คือ ยาปฏิชีวนะ และยาแก้อักเสบ เป็นผลให้ใช้ผิดประเภทนะคะเรามาทำความรู้จักกับยา 2 ชนิดนี้กันดีกว่าค่ะ
ยาแก้อักเสบ (ยาต้านการอักเสบ Anti-inflammatory drugs) เป็นยาที่มีฤทธิ์ลดไข้ แก้ปวด ลดบวมอักเสบ โดยไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน และส่วนใหญ่เวลาเจ็บคอ จะเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งต้องได้รับยากลุ่มนี้
ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)   เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ใช้รักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไม่มีฤทธิ์แก้อักเสบโดยตรง เช่น เพนนิซิลลิน อะม็อกซีซิลลิน (อะม็อกซีซิลลิน มักเข้าใจผิดเรียกว่า ยาแก้อักเสบ)
หมายความว่า เมื่อเป็นไข้ เจ็บคอ ไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะ

เสมอไป ต้องดูว่าเกิดจากเชื้อตัวไหน หากกินยาไม่ถูกประเภทนอกจากไม่หายแล้ว อาจมีผลเสียในระยะยาว เช่น ดื้อยา แพ้ยาได้

ที่มา : นิตยาสารเพื่อนแพน Breaking News Vol.32 No.204 Issue 6/2558

การตักบาตรให้ได้บุญ

ทุก ๆ เช้าเชื่อว่าเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ถ้ามีโอกาสคงจะทำบุญตักบาตรกัน แต่จะทำบุญอย่างไรจึงได้บุญวันนี้มีวิธีการทำบุญมาฝากกันค่ะ
การทำบุญตักบาตรจะสมบูรณ์ได้ ต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่าง
1. ต้องเตรียมใจให้พร้อม เพราะบุญที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ใจของผู้ถวาย ต้องรักษาเจตนาให้บริสุทธิ์ 3 ขณะ คือ
1.1 ก่อนถวาย ตั้งใจเสียสละ
1.2 ขณะถวาย มีใจเลื่อมใส ถวายด้วยความเคารพ
1.3 หลังจากถวายแล้วยินดีในทานของตน จิตใจเบิกบานเมื่อนึกถึงทานที่ได้ถวายไปแล้ว
2. ผู้รับ คือ พระภิกษุสามเณร เป็นผู้สำรวมมีข้อวัตรปฏิบัติที่ดีงาม ตามพระธรรมวินัย ใฝ่ศึกษาเล่าเรียนพระพุทธพจน์และเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติเพื่อบรรเทาราคะ โสะ โมหะ จนสามารถละขาดได้ และกล่าวสอนแก่มวลมนุษย์
3. สิ่งของที่ถวาย ต้องได้มาด้วยวิธีที่สุจริต ไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน และสิ่งของนั้นต้องเหมาะสมกับพระภิกษุสามเณร

ก่อนทำบุญตักบาตร ควรอธิษฐานยกสิ่งของที่จะถวายขึ้นเสมอหน้าผากแล้วอธิษฐานตามที่ต้องการในเรื่องที่เป็นบุญกุศล จากนั้นจึงถวายอาหารบิณฑบาตด้วยความเคารพ ถ้ามีดอกไม้ธูปเทียนให้ถวายหลังจากที่ถวายอาหารบิณฑบาตแล้ว ถ้าเป็นผู้หญิงให้ถวายดอกไม้ ธูปเทียน บนฝาบาตร เมื่อพระสงฆ์ปิดบาตรแล้ว
การทำบุญที่ถูกต้อง จะได้บุญมากจะต้องทำตาม บุญกิริยาวัตถุ 10 มี 10 ข้อ ได้แก่
1. ทานมัย
2. สีลมัย
3. ภาวนามัย
4. อปจายนมัย
5. เวยยาวัจจมัย
6. ปัตติทานมัย
7. ปัตตานุโมทนามัย
8. ธัมมสวนมัย
9. ธัมมเทศนามัย
10. ทิฏฐุชุกัมม์
วันนี้เราจะมารู้จักกับ ทานมัย กันก่อนนะคะ เพราะทานมัยเป็นบุญเกิดจากการทำทาน ทานที่จะได้ผลมาก ต้องมีพระธรรม 84,000 พระธรรมขันธ์ เป็นกรอบ ต้องรู้ว่าอะไรทำทานได้ อะไรทำไม่ได้ เช่น
1. ไม่ถวาย บุหรี่ หมากพลู ยาเสพติด
2. ไม่เอาเงินใส่บาตร บางคนใส่บาตรด้วยเงิน เพราะคิดว่าได้กุศล เพราะเงินสามารถซื้อได้ทุกอย่าง แต่ตามพระวิจัยแล้วเงินเป็นอนามาสวัตถุ ไม่ควรถวายเงินให้พระ จะทำให้อาบัติ แต่ในปัจจุบันพระสงฆ์มีความจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อเป็นค่าพาหนะ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ บ้างตามสมควร เมื่อจะถวายเงินพระก็ตั้งจิตอธิษฐาน (เงินเป็นอนามาสวัตถุ) เพื่อให้พระสงฆ์สามารถใช้จ่ายได้ตามควรโดยไม่ผิดพระวินัย เมื่ออธิษฐานแล้ว ก็ให้ใส่ในย่ามไม่เอาเงินใส่ในบาตร
3. ไม่ถวายผลไม้ที่มีเมล็ด ซึ่งยังไม่ได้กัปปิยะ คือ การทำให้เมล็ดไม่สามารถงอกเป็นต้นใหม่ได้ ถ้าพระฉันผลไม้ที่มีเมล็ดก็จะอาบัติ

กาลิก คือ ของที่พึงกลืนสำหรับพระภิกษะ มี 4 ประเภท คือ

1. ยาวกาลิก หมายถึงอาหารทุกอย่าง รวมทั้ง นม โอวัลติน ไมโล ภิกษะรับอังคาส (ประเคน) แล้ว ฉันได้ตึ้งแต่อรุณขึ้น จนถึงเที่ยงตรง
2. ยามกาลิก หมายถึง น้ำผลไม้ 8 อย่าง (อัฏฐปานะ) รวมทั้ง น้ำผลไม้สังเคราะห์ต่าง ๆ (เว้นน้ำผลไม้ที่มีผลใหญ่ 9 ชนิด คือ ตาล มะพร้าว ขนุน สาเก น้ำเต้า ฟักเขียว แตงไท แตงโม และฟักทอง) ฉันได้ชั่วยาม หมายถึง ยามสุดท้ายคือหมดเขตเมื่ออรุณขึ้น
3. สัตตาหกาลิก หมายถึง เภาสัช 5 อย่าง คือ เนยส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย (รวมน้ำตาลทราย น้ำตาลปี๊บ น้ำตาลปึก) ภิกษะรับอังคาสแล้ว เก็บไว้ฉันได้ 7 วัน หมดเขตเมื่ออรุณของวันที่ 8 ขึ้น (06.00 น.)
4. ยาวชีวิก หมายถึง ยารักษาโรคต่าง ๆ ทั้งแผนโบราณ แผนปัจจุบัน ภิกษุรับอังคาสแล้ว เก็บไว้ฉันได้ตลอดชีวิต
อนึ่ง ถ้ากาลิกทั้ง 4 ปนกันในการอังคาส (ประเคน) จะนับอายุตามกำหนดเวลาของกาลิกที่มีอายุสั้น เช่น
1. น้ำอัฏฐะปานะ กับ อาหาร พระฉันได้เพียงเช้าถึงเที่ยงวัน
2. น้ำผึ้งกับน้ำอัฏฐะปานะ พระฉันได้เพียงวันหนึ่ง คืนหนึ่งภายในก่อนอรุณขึ้น
3. ยารักษาโรคกับน้ำผึ้ง พระเก็บไว้ฉันได้เพียง 7 วัน ดังนั้นควรถวายยา แยากจากของอื่น

คำอธิษฐานก่อนตักบาตร
อิทัง ทานัง สีละวันตานัง ภิกขูนัง นิยาเทมิ สุทินนัง วะตะ เม ทานัง อาสะวักขะยาวะหัง นิพพานนะปัจะโย โหตุ
ข้าพเจ้าขอน้อมถวานทานนี้ แด่พระสงฆ์ผู้มีศีลทั้งหลาย ขอทานที่ข้าพเจ้าถวายดีแล้ว จงเป็นปัจจัยให้ถึงพระนิพพานด้วยเทอญ

คำกรวดน้ำ
อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ สุขิตา โหนฺตุ ญาตโย
ขอผลบุญนี้ จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจา ขอญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า จงมีความสุขกาย สุขใจเถิด

ที่มา : กองอนามัยผู้สูงอายุ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการตักบาตรให้ได้บุญ โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พิมพ์ครั้งที่ 3 2553.

77 เคล็ดลับ กับการเพิ่ม 2,000 ก้าว

จากสภาวะการแข่งขันที่เร่งรีบในแต่ละวันกับการทำงานทำให้หลายคนลืมสนใจกับสุขภาพ ดังนั้นวันนี้เรามีเคล็ดลับง่าย ๆ มาบอกกันกับเรื่องใกล้ ๆ ตัวของเราก็คือการเดินนั่นเอง
การเดินมากขึ้น 2,000 ก้าวจากปกติ สามารถควบคุมน้ำหนักไม่ให้เพิ่มขึ้นได้
การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในกิจวัตรประจำวันจะช่วยเพิ่มการเดินอีก 2,000 ก้าว หรือเพิ่มระยะเวลาการเดินอย่างน้อย 10 นาทีในแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเดินที่บ้าน ที่ทำงาน และช่วงเวลาว่าง จาก 77 เคล็ดลับต่อไปนี้
ที่บ้าน
1. เดินรอบบ้านหรือรอบหมู่บ้าน
2. เดินเลยร้านขายของชำแล้ววกกลับมาซื้อของ
3. ไปโรงเรียนที่อยู่ใกล้แล้วเดินในลู่วิ่งรอบสนาม 4 รอบเท่ากับประมาณ 2,000 ก้าว
4. เดินขึ้น-ลงบันไดหลาย ๆ เที่ยว เพื่อทำงานบ้าน
5. จอดรถไกลจากร้านอาหารหรือธนาคารเล็กน้อยแล้วเดินต่อ
6. ระหว่างรอพบแพทย์หาโอกาสเดินไปมา
7. ฟังเพลงขณะกำลังเดิน
8. ชวนเพื่อหรือสมาชิกในครอบครัวมาเดินด้วยกัน
9. เดินไปส่งลูกที่โรงเรียน
10. พาสุนัขไปเดินเล่น
11. จัดตั้งชมรมเดินในชุมชนของท่าน
12. เดินไปทำธุระที่ร้านค้า ไปรษณีย์ใกล้บ้าน
13. พูดคุยกับครอบครัวระหว่างการเดินหลังอาหารเย็น
14. เดินไปวัด โบสถ์ หรือมัสยิด
15. เดินรอบบ้านขณะคุยโทรศัพท์
16. หาโอกาสเดินไปดูพระอาทิตย์ขึ้น
17. เดินไปเยี่ยมเยียนเพื่อนที่บ้าน
18. พยายามเดินให้ได้ระยะทางไกล ๆ
19. จดบันทึกจำนวนก้าวและความรู้สึกดี ๆ จากการเดิน
20. เดินบนเครื่องสายพานในวันที่ฝนตก หรือข้างนอกมืดเกินไปที่จะเดิน
21. เดินย่ำเท้าหรือเดินไปเดินมาขณะดูโทรทัศน์
22.เข็นรถเข็นกลับไปคืนร้านค้า หลังจากท่านเก็บของเรียบร้อยแล้ว
23. เข้าร่วมเดินการกุศล
24. เดินก่อนถึงเวลานอน 2-3 ชั่วโมงจะช่วยให้หลับสนิท

ที่ทำงาน
25. เดินในที่ทำงานก่อนจะเริ่มทำงานในตอนเช้า
26. ลงรถประจำทาง ก่อนถึงที่หมาย 1-2 ป้าย แล้วเดินต่อไป
27. เดินไปทำงานถ้าที่พักอาศัยอยู่ไม่ไกล
28. เดินไปชงกาแฟจากจุดที่อยู่ไกลโต๊ะทำงานที่สุด
29. เดินเข้าห้องน้ำที่อยู่อีกฟากหนึ่งของตึก
30. เดินระหว่างพักการประชุม
31. เดินเร็ว ๆ 10 นาทีช่วงพักกลางวัน
32. ขึ้นลงบันไดแทนการใช้ลิฟท์และบันไดเลื่อน
33. จอดรถไว้ไกล ๆ ในที่จอดรถ
34. ออกไปเดินสัก 4-5 นาทีเพื่อคลายเคลียด
35. เดินไปร้านค้าใกล้ ๆ เพื่อซื้อของ
36. จัดตั้งชมรมเดินในที่ทำงาน
37. ชวนเพื่อนร่วมงานไปเดินก่อนทำงานและหลังเลิกงาน
38. เดินไปคุยกับเพื่อนร่วมงานที่โต๊ะแทนที่จะโทรศัพท์หรือส่งอีเมล์
39. กระตุ้นเพื่อนร่วมงานไปร่วมเดินกับท่านช่วงเวลาหยุดพัก
40. เดินรอบที่ทำงาน

ช่วงเวลาว่าง
41. เดินดูสินค้าตามร้านต่าง ๆ ภายในศูนย์การค้า
42. เดินดูให้รอบศูนย์การค้าก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า
43. เข้าร่วมกลุ่มการเดินหรือแอโรบิกในน้ำ แรงต้านของน้ำจะช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง
44. เดินเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์ หรือ อุทยาน
45. เดินวนรอบ ๆ งานแสดงสินค้าก่อนจะตัดสินใจซื้อ
46. เริ่มด้วยการเดินช้า ๆ แล้วเพิ่มความเร็วขึ้นตามที่ต้องการ แล้วผ่อนหยุดด้วยการเดินช้าๆ ในช่วงท้ายของการเดิน
47. ร่วมกิจการเดิน/วิ่งของชุมชน
48. ท่องธรรมชาติด้วยการเดิน
49. หาเส้นทางเดินใหม่ ๆ เพื่อสำรวจทิวทัศน์ที่แปลกออกไป
50. เดินท่องเที่ยวโบราณสถาน
51. จัดวันทำความสะอาดชุมชนร่วมกัน
52. อาสาสมัครพาผู้สูงอายุเดินเที่ยว
53. นัดเพื่อนกินอาหารกลางวันที่ร้านที่สามารถเดินไปได้
54. เดินหาสินค้าราคาถูก บริเวณตลาดนัดใกล้บ้าน
55.เดินไปเที่ยวชุมชนใกล้เคียง
56. เดินส่องกล้องชมนก
57. เข้าร่วมกลุ่มเต้นแอโรบิก
58. ไปเที่ยวชายทะเลและเดินไปตามชายหาด
59. เล่นกีฬาที่ชอบ
60. ให้รางวัลตัวเองเมื่อเดินได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
61. เดินรอบสนามขณะลูกเล่นกีฬา
62. เดินออกรอบตีกอล์ฟโดยไม่ใช้รถกอล์ฟ
63. เดินไปสวนสาธารณะกับลูก
64. ออกกำลังกายที่ชอบ

กิจกรรมอื่น ๆ
65. เต้นรำยามค่ำคืนในคลับ
66. ล่องแพ พายเรือคายัค หรือแคนู
67. ขี่จักรยานท่องเที่ยวหรือไปทำธุระ
68. เล่นสเกตแถวบ้าน
69. กายบริหาร เช่น ฝึกซี่กง ไทเก็ก ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
70. รำไม้พลองป้าบุญมี
71. เรียนมวยไทยแอโรบิก
72. กำจัดวัชพืช พรวนดินด้วยจอบ คราด ตัดแต่งกิ่งไม้ ตัดหญ้า
73. ว่ายน้ำในสระ
74. ดำน้ำชมปะการัง
75. สลับทิศทางการเดิน – เริ่มเดินจากจุดสิ้นสุดไปหาจุดเริ่มต้นแทน
76. เล่มเกมไล่จับรีรีข้าวสาร งูกินหาง มอญซ่อนผ้ากับลูก
77. ล้างรถด้วยตนเอง

เคล็ดลับง่าย ๆ และทำได้ทุกที่ทุกเวลา เพื่อนๆ เลือกทำให้เหมาะกับสุขภาพและความแข็งแรงของร่างกายนะคะ เท่านี้ก็ทำให้มีสุขภาพดีและควบคุมน้ำหนักได้อีกด้วย

ที่มา : กองออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

ทำความรู้จักบัตรธรรมศาสตร์

ปัจจุบันนี้บัตรธรรมศาสตร์ใช้ประโยชน์มากกว่าเป็นบัตรนักศึกษาเพียงอย่างเดียว เรามาทำความรู้จักกับบัตรธรรมศาสตร์ว่าสามารถใช้ประโยชน์อะไรได้บ้างกันดีกว่า
บัตรธรรมศาสตร์คือ บัตรประจำตัวนักศึกษา ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก และบุคลากรใช้สำหรับ
1. ผ่านเข้า – ออก จุดติดตั้ง Access Control
2. ใช้บริการห้องสมุด และอาคารศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
3. ใช้ชำระค่าบริการต่าง ๆ ทางการศึกษา เช่นค่าบริการห้องสมุด การขอใบรับรองทางการศึกษาผ่านเครื่องผลิตใบรับรองอัตโนมัติ ชำระค่าลงทะเบียนรายวิชาและยืมคืนจักรยาน “Bike Sharing” ผ่านระบ Internet (กรอกเลขหน้าบัตร 16 หลัก)
4. โอน ฝาก และถอนเงิน (ATM) จากบัญชีออมทรัพย์ธนาคาร บมจ.กรุงไทย
5. เป็นบัตรเงินสด ชำระสินค้าและบริการ ณ จุดรับชำระที่มีเครื่องหมาย KTB cash Card และ VISA

ช่องทางการเติมเงิน e-Purse
ช่องทางการเติมเงินเข้าบัตรนักศึกษา ในส่วนของ e-Purse ทำได้ 4 ช่องทาง เติมเงินง่าย ๆ ด้วยตัวเองดังนี้
1. เติมเงินหน้าเคาน์เตอร์ บมจ. กรุงไทย สาขาย่อยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
2. เติมเงินตู้ ATM บมจ. กรุงไทยทุกสาขา
3. เติมเงิน Online
4. เติมเงินผ่าน SMS เติมเงินบัตรนักศึกษา Cash Card กด *765*42* หมายเลขโทรศัพท์ที่รับโอน *จำนวนเงิน* USSD PIN# แล้วโทรออก
* การเติมเงินด้วยวิธีดังกล่าว ต้องทำการอัพเดตยอดเงินทุกครั้ง ก่อนนำบัตรไปใช้งาน

บัตรชำรุด และการทำบัตรใหม่ บัตรธรรมศาสตร์ชำรุด หรือสูญหาย ควรทำอย่างไร
1. สามารถโทรแจ้งอายัดบัตรได้ที่ Call Center 1551 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือธนาคารที่เปิดบัญชีโดยเตรียมเลขบัญชี 10 หลัก ชื่อ-สกุล เจ้าของบัตรเป็นข้อมูลในการแจ้งอายัด
2. ส่งคำร้องทำบัตรใบใหม่ โดยนำบัตรประชาชน และรูปถ่ายชุดนักศึกษาขนา 1.5 นิ้ว จำนวน 2 รูป ติดต่อที่เคาน์เตอร์บริการสำนักทะเบียนฯ พร้อมรับบัตรชั่วคราว
3. ติดต่อทำบัตรใหม่ที่ บมจ.กรุงไทย (ภายใน 2-3 สัปดาห์)

ประโยชน์ของบัตรธรรมศาสตร์มีมากมายและยังสะดวกในการชำระค่าบริการ และยังเกี่ยวกับห้องสมุดของเราอีกด้วย อย่างเช่นช่องทางการเติมเงิน e-Purse สำหรับชำระค่าปรับและค่าบริการพิมพ์ผลการสืบค้นข้อมูลของห้องสมุดสมกับเป็นบัตรยุคดิจิตอลจริง ๆ นะคะ

ที่มา : Mass News ฉบับที่ 79 เดือนกันยายน 2558

เคล็ด(ไม่)ลับคู่บ้าน

ภาวะปัจจุบันทำให้ทุกคนทำงานแข่งกับเวลา ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบหลังจากทำงานประจำเชื่อว่าคงจะหนีไม่พ้นงานบ้าน เพื่อให้เป็นการประหยัดเวลาและประหยัดแรงให้ได้มากที่สุดเคล็ดลับคู่บ้านน่าจะเป็นประโยชน์ในการช่วยประหยัดแรงและเวลาได้และช่วยให้เราได้มีเวลาพักผ่อนและท่องเที่ยวกับครอบครัวมากขึ้นนะคะ

1. การทำความสะอาดเครื่องใช้ที่มีคราบมัน
เครื่องใช้ภายในครัวเช่น กะทะ ชาม จาน มีด หม้อ เมื่อมีคราบมันติดอยู่ให้นำไปแช่น้ำผสมน้ำส้มสายชูประมาณครึ่งชั่วโมง แล้วล้างออกตามปกติ คราบมันจะล้างออกได้ง่ายขึ้น
     2. การทำความสะอาดเตาปิ้งย่าง
เตาปิ้งย่างจะมีคราบเขม่าควันจากเตาเกาะติดให้ใช้เบคกิ้งโซดาผสมน้ำชุบผ้าเช็ดทำความสะอาด
        3.  การทำความสะอาดฝักบัว
ฝักบัวเมื่อใช้ไปจะมีคราบสกปรกติดอยู่ วิธีทำความสะอาดให้นำฝักบัวแช่ลงในน้ำอุ่นผสมน้ำส้มสายชูประมาณ 1 ชั่วโมง  จากนั้นให้ล้างด้วยน้ำสะอาดฝักบัวก็จะกลับมาใหม่เหมือนเดิม
        4. การขจัดกลิ่นคาวบนเขียง
กลิ่นคาวของเนื้อสัตว์หลังจากการเตรียมประกอบอาหารจะติดอยู่เสมอ วิธีขจัดกลิ่นเหล่านี้ให้ใช้เกลือโรยให้ทั่วเขียงทิ้งไว้สักครู่นำไปล้างตามปกติ ตากแดดให้แห้ง กลิ่นคาวที่อยู่บนเขียงจะหายไป
        5. การทำความสะอาดกลิ่นคาวปลาออกจากภาชนะ
ภาชนะที่มีกลิ่นคาวปลาติดอยู่ให้นำไปแช่น้ำชาที่ชงแก่มาก ๆ ประมาณ 5-10 นาที แล้วนำมาล้างตามปกติ กลิ่นคาวปลาก็จะหมดไปทันที
        6. การทำความสะอาดอ่างล้างหน้า
วิธีการขจัดคราบสกปรกให้ใช้ผ้าชุบแอมโมเนียผสมน้ำมะนาวเช็ดออก คราบสกปรกดังกล่าวก็จะออกจนหมดและยังขจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ออกไปอีกด้วย
        7. การทำความสะอาดตู้เย็น
ภายใน ใช้ผ้าชุบน้ำผสมผงบอแรกซ์ในปริมาณที่พอเหมาะเช็ดให้ทั่วบริเวณด้านในตู้เย็นแล้วใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดเช็ดอีกครั้งหนึ่ง
       ภายนอก ให้ใช้ผ้าชุบน้ำสบู่เช็ดทำความสะอาดให้ทั่วแล้วใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดเช็ดอีกครั้งหนึ่ง
           ยางบริเวณประตู ให้ใช้แปรงสีฟันเก่าชุบน้ำสบู่ถูไปมาให้ทั่ว คราบสกปรกที่ติดอยู่ก็จะหลุดออกมา จากนั้นให้ใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดเช็ดอีกครั้งหนึ่ง
        8. ขจัดกลิ่นเหม็นในตู้เย็น
ให้ใช้ใบชาที่ชงแล้วหรือกากกาแฟ ห่อผ้ามาใส่ไว้ในตู้เย็น กลิ่นเหม็นในตู้เย็จจะค่อย ๆ จางไป และควรเปลี่ยนกากใบชาหรือกากกาแฟอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
       9. ขจัดคราบสนิมหรือเชื้อราบนเสื้อผ้า
เสื้อผ้าที่เลอะสนิมหรือมีรอยเชื้อราให้ใช้เกลือป่นโรยบริเวณที่เลอะ จากนั้นใช้มะนาวฝานครึ่งถูไปมาแล้วราดด้วยน้ำร้อนเมื่อเรียบร้อยให้นำไปซักตามปกติ รอยสนิมหรือเชื้อราก็จะหายไป
      10. อุ่นข้าวไม่ให้มีกลิ่น
ข้าวที่รับประทานไม่หมด หากนำไปอุ่นด้วยการนึ่งมักมีกลิ่นที่ไม่น่ารับประทาน วิธีการแก้ไขให้ใส่เกลือประมาณ 1 ช้อนชาลงในน้ำที่ใช้นึ่งข้าวจะทำให้ข้าวมีกลิ่นน่ารับประทาน

เคล็ด(ไม่)ลับคู่บ้านจะช่วยให้เพื่อน ๆ ประหยัดเวลาการทำงานบ้านและมีเวลาพักผ่อนในวันหยุดมากขึ้นนะคะ

แหล่งอ้างอิง : ศิริวรรณ  คุ้มโห. “กลเม็ดเคล็ดคู่บ้าน” สำนักพิมพ์นานา. พิมพ์ครั้งที่ 1 .  2556.

สมุนไพรขับเสมหะ แก้ไอ

ไอ…นั้นสำคัญไฉน  ยังไงก็ไม่ใช่ I LOVE YOU  แน่นอน  อากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อยเดี๋ยวร้อน  เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวฝน  วันหนึ่งอากาศของบ้านเราแทบจะมี 3 ฤดู  แต่สิ่งที่มักจะได้เป็นของแถมที่ทุกคนไม่ต้องการก็คือ อาการเป็นหวัด  เมื่อเป็นหวัดสิ่งที่ตามมาอีกอย่างก็คือ อาการไอ   ยามจะกินก็ไม่ได้กินเพราะเจ็บคอ  ยามจะนอนก็แสนจะทรมานเพราะระคายคอไอทั้งคืน จะอมยาอมแก้ไอทั้งคืนก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้  ไปทำงานหรือเดินทางในที่สาธารณะก็แสนจะเกรงใจคนรอบข้างเพราะอาการไอ    แต่ภูมิปัญญาพื้นบ้านของไทยที่นำเอาพืชสมุนไพรที่เป็นยาขับเสมหะ แก้ไอ และสามารถหาได้ทั่วไป  เช่น มะนาว เมื่อคั้นเอาน้ำออกมาผสมกับเกลือก็บรรเทาอาการไอได้เป็นอย่างดี  แต่ยังมีสมุนไพรชนิดอื่นอีกที่นำมาเป็นยาขับเสมหะ แก้ไอ  ได้แก่  จิก ชะเอมไทย ปีบ  ไพล  มะแว้งเครือ มะแว้งต้น มะกรูด  มะดัน มะขามป้อม    มะอึก  ลำโพงดอกขาว หนุมานประสานกาย  สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

แหล่งรายการอ้างอิง.  

สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด กลุ่มยาขับเสมหะ  แก้ไอ.  สืบคืนเมื่อวันที่ 24  เมษายน 2558.  จาก  http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_08.htm

สรรพคุณสมุนไพรกลุ่มพืชถอนพิษ

อากาศร้อนๆ แบบนี้  และเป็นช่วงปิดภาคการศึกษาของนักเรียนและวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวันในเดือนเมษายน  หลายคนมักจะพาครอบครัวไปเที่ยวกันบางคนชอบเที่ยวแบบธรรมชาติตามภูเขา  น้ำตก  บางคนไปพักผ่อนริมทะเล   หลายหน่วยงานจัดสัมมนาสถานที่ยอดฮิตก็คือภูเขา หรือทะเล  การท่องเที่ยวภูเขา น้ำตก หรือทะเลจะมีกิจกรรมนักท่องเที่ยวได้ทำ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นน้ำ หรือปีนภูเขา มักจะพบกับอันตรายจากการบาดเจ็บในการปีนป่าย หรือโดนสัตว์มีพิษ  ฉะนั้นเมื่อเราไปเที่ยวในที่เป็นธรรมชาติ อย่างน้อยเราควรรู้จักการปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยใช้พืชสมุนไพรที่สามารถหาได้ตามธรรมชาติใช้บรรเทาอาการเจ็บปวด หรือถอนพิษเบื้องต้นก่อนที่จะไปพบแพทย์  สมุนไพรดังกล่าวได้แก่ เทียนบ้าน  เทียนกิ่ง  ผักบุ้งทะเล  พุดตาน  รางจืด  ว่านหางจระเข้  เสลดพังพอนตัวเมีย  เสลดพังพอนตัวผู้   สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

แหล่งรายการอ้างอิง:

สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด กลุ่มพืชถอนพิษ.  สืบค้นเมื่อวันที่ 23  เมษายน  2558.  จาก  http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_20.htm

 

สมุนไพรไล่ยุงหรือฆ่าแมลง

ยงและแมลงเป็นสิ่งที่รบกวนใจไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ต้องเจอ  ยุงบางชนิดออกหากินเวลากลางวัน บางชนิดออกหากินในเวลากลางคืน แต่ปัจจุบันออกยุงชนิดเดียวกันพบได้ทั้งกลางวันและกลางคืน อีกทั้งยังเป็นพาหะนำโรคต่าง ๆ มาสู่คน   เช่นไข้เด็งกี   โรคไข้มาราเลีย   ยิ่งในฤดูฝนการแพร่พันธุ์ของยุงจะเร็วมาก  แมลงชนิดที่เราพบมากที่สุดก็จะเป็นแมลงสังคมอย่างมด  ไม่ว่าจะวางของกินไว้ที่ไหนยิ่งถ้าเป็นของหวานด้วยจะได้พบกับมดอย่างแน่นอน ถ้าหากใช้สารเคมีในการกำจัดแมลงและยุงก็จะมีสารตกค้างทิ้งไว้ให้ดูต่างหน้าอย่างแน่นอน  กว่าสารเคมีจะหมดไปก็ใช้ระยะเวลาหลายสัปดาห์ แต่ภูมิปัญญาพื้นบ้านของไทยที่นำสรรพคุณของสมุนไพรไล่ยุงและฆ่าแมลงมาใช้ก็จะช่วยให้ไม่พบต้องกับสารเคมีตกค้าง สมุนไพรดังกล่าวได้แก่ตะไคร้หอม มหาหงส์ ยูคาลิป หางไหลแดง หางไหลขาว สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

 แหล่งรายการอ้างอิง:
สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด  แบ่งตามกลุ่มอาการ.  สืบค้นเมื่อวันที่ 23  เมษายน 2558  จาก  http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_25.htm

บทสวดมนต์คาถายอดกัณฑ์พระไตรปิฎก

คาถายอดกันฑ์พระไตรปิฏก  

 สัปดาห์หนึ่งมี 7 วัน หรือว่า 7 วันเรียกกันว่าเป็นหนึ่งสัปดาห์  ในทุกๆ 7 วันจะมีวันพระ 1 วันใน 1สัปดาห์  ชาวพุทธส่วนใหญ่ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตาทวดนิยมไปทำบุญที่วัดหรือเจริญสวดมนต์ภาวนา ผู้สูงอายุบางคนก็นิยมไปปฏิบัติธรรมนอนอยู่ที่วัดในวันพระ   บทสวดมนต์ที่นิยมสวดกันประจำได้แก่บทบูชาพระรัตนตรัย  บทพระธรรมคุณ  บทพระสังฆคุณ เพื่อเจริญภาวนา  สำหรับบทสวดมนต์ทั้งสามบทนี้ใครที่สวดเป็นประจำจะใช้ทำนองสรภัญญะ  และมีอีกคาถาที่นิยมสวดกันก็คือคาถายอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก เป็นพุทธมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ สำหรับสวดและภาวนาทุกเช้าค่ำ เพื่อความสวัสดีความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ปฏิบัติอันเป็นบ่อเกิด มหาเตชัง มีเดชมาก มหานุภาวัง มีอานุภาพมาก และมีลาภยศ สุขสรรเสริญ ปราศจากทุกข์โศกโรคภัย อุปัทวันตราย และความพินาศทั้งปวง ตลอดทั้งหมู่มารร้ายและศัตรูคู่อาฆาตไม่อาจแผ้วพานได้ และอานิสงส์สวดยอดกัณฑ์พระไตรปิฎกโบราณท่านว่า ผู้ใดได้พบยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎกนี้แล้ว ท่านว่าเป็นบุญอันประเสริฐนัก เมื่อพบแล้วให้พยายามสวดภาวนาอยู่เป็นนิตย์ตราบเท่าชีวิต จนทำลายขันธ์จากมนุษย์โลก แล้วก็จะไปยังเกิดในสัมปรายภพสวรรค์สุคติภพด้วยพระอานิสงส์เป็นแน่แท้ผลของการสวดมนต์จะทำให้ Continue reading บทสวดมนต์คาถายอดกัณฑ์พระไตรปิฎก

สรรพคุณสมุนไพรกลุ่มยารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน กลากเกลื้อน

ตอนนี้อากาศของทุกภาคในประเทศไทยมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นบางครั้งอาจจะมีพายุฝนเข้ามาให้ชุ่มฉ่ำ เดือนเมษายนอากาศร้อนกำลังจะผ่านไปไม่ทันไรฤดูฝนกำลังจะมาแทนที่ หลายคนที่มีอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ทุกวันต้องเร่งรีบออกไปทำงานกว่าจะกลับพระอาทิตย์ก็ลับขอบฟ้าไปแล้ว ตามร่างกายต้องไปสัมผัสกับฝุ่นละอองและหมอกควันตามท้องถนน  บางครั้งรู้สึกถึงผิวหนังคันโดยไม่ทราบสาเหตุการทายาที่มีส่วนผสมของสเตอรอยด์อาจเป็นอันตรายได้ ดังนั้นเราควรรู้จักสมุนไพรกลุ่มยารักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน ที่ใช้มาตั้งแต่ยุคของปู่ย่าตายายกันดีกว่า…..สมุนไพรที่สามารถใช้รักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อนได้ ได้แก่ กุ่มบก ข่า ขมิ้นชัน ทองพันชั่ง นางแย้ม ใบระบาด เปล้าน้อย เหงือกปลาหมอ พิลังกาสา มะยม ว่านมหากาฬ อัคคีทวารสามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่  http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_02.htm

แหล่งรายการอ้างอิง   :  สรรพคุณสมุนไพรแบ่งตามกลุ่มอาการ  กลุ่มยารักษาโรคผิวหนัง  ผื่นคัน  กลากเกลื้อน.  สืบค้นเมื่อวันที่  21  เมษายน 2558  จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_02.htm