พิพิธภัณฑ์และห้องสมุดในเยือนถิ่นอินเดียนแดง

จากพระราชนิพนธ์ เรื่อง เยือนถิ่นอินเดียนแดง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา ในระหว่างวันที่ 6 -19 พฤศจิกายน 2535 นั้น ได้เสด็จทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดหลายแห่ง เช่น National Museum of American History, National Air and Space Museum, National Museum of Natural History ในเรื่องของพิพิธภัณฑ์ ทรงบันทึกและมีพระราชดำริเกี่ยวกับการทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ ความว่า

“Ms. Francine Berkowitz, Director of the Smithsonian’s International Center และคนอื่นๆ มาอธิบายให้ฟังว่าการทำพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ไม่ใช่การสร้างโกดังเก็บของเก่า แต่ต้องมีแนวคิดมาก่อน แนวคิดนี้มักมีเรื่องสังคม เรื่องปรัชญา และวางของให้เล่าเรื่องที่เราอยากให้คนดูเข้าใจ

ที่จริงแล้วการที่ได้ดูพิพิธภัณฑ์ที่จัดดีเช่นนี้ อาจทำให้ได้ความรู้หลากหลายและรวดเร็วเสียกว่าอ่านหนังสือเสียอีก เพราะได้เห็นของจริงที่นำมารวบรวมไว้ พิพิธภัณฑ์ที่ได้ดูทั้งหมดและได้กล่าวพรรณนามาข้างต้นขึ้นอยู่กับสถาบันใหญ่อันเป็นที่รู้จักกันดี คือ สถาบัน Smithsonian Institute ซึ่งมีแนวคิดที่จะรวมวิทยาการแขนงต่างๆ มาไว้เพื่อให้ประชาชนธรรมดาสามัญมาศึกษาหาความรู้ โดยไม่ต้องเป็นนักวิชาการในสาขานั้น”

ในส่วนของการทอดพระเนตรห้องสมุด เช่น Library of Congress ทรงสรุปเกี่ยวกับงานของ Library of Congress ว่าวันหนึ่งๆ มีหนังสือเข้าประมาณ 7,000 รายการ ของที่ไม่ใช่ของสหรัฐเองก็ต้องซื้อ มีโครงการแลกเปลี่ยนหนังสือกับต่างประเทศ ของขวัญ หนังสือที่พิมพ์ในสหรัฐต้องส่งให้ห้องสมุดทั้งหมด

นอกจากนี้เสด็จฯ ทอดพระเนตร Preservation Offices งานอนุรักษ์หนังสือเป็นงานสำคัญ ต้องใช้เทคนิคหลายๆ อย่าง การเก็บหนังสือ เขาใส่กล่องไว้ ของที่ใช้มากๆ ก็ถ่ายเป็นไมโครฟิล์ม มีหน่วยงานเย็บหนังสือ (bookbinding) แก้ไขปัญหาที่ต้นแบบหนังสือเป็นกระดาษกรด โดยมีห้อง Lab ทำการอนุรักษ์หนังสือโดยวิธีการทางเคมี และใช้กระดาษปะ ห้อง lab นี้ เรียกกันเล่นๆ ว่าเป็นคลินิกรักษาหนังสือป่วย

ที่ National archives ได้ทอดพระเนตร Declaration of Independence รัฐธรรมนูญและ Bill of Rights ซึ่งอยู่ในตู้พิเศษ เลื่อนขึ้นเลื่อนลงได้ ตู้นี้ควบคุมความชื้น ปราศจากเชื้อรา ปลอดแมลง ป้องกันไม่ให้หมึกจาง

ทรงบันทึกเรื่องการสแกนหนังสือ เมื่อทอดพระเนตร เรื่อง Electronic Records ว่า Electronic Records เป็นโครงการที่จะ scan เอกสารจดหมายเหตุ มีประโยชน์หลายอย่างคือ จะเก็บรักษาง่าย ประหยัดดี ถ้าเอกสารเก่า อ่านไม่ชัด ก็ยังมีโอกาสใช้เทคนิค image enhancement ทำให้ชัดเจนขึ้นบ้าง ขยายขนาดได้ ค้นคว้าง่าย สามารถค้นคว้าได้จากระยะทางไกล … เขาเริ่มทำโครงการนี้ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1986 ต้องเลือกเอกสารที่มาทำ ต้องเป็นเอกสารที่เปิดแล้ว (โดยทั่วไปประมาณ 30 ปี) เจ้าหน้าที่หอสมุดหลายคนไม่ค่อยตื่นเต้นกับโครงการ ทั้งยังเสียดายกระดาษ ซึ่งสามารถให้ข้อมูลได้เหมือนกัน เขาไม่ค่อยเชื่อว่าจะทำได้คุ้มค่า

ห้องสมุดแห่งอื่นๆ ที่เสด็จพระราชดำเนิน ได้แก่ (ใน Harvard College Library)

Widener Library … Widener เป็นนักสะสมหนังสือมาตั้งแต่อายุ 17 ปี เขาเรียนทางด้านวรรณคดีอังกฤษที่ Harvard นี้ เสียชีวิตในเหตุการณ์ที่เรือ Titanic อับปาง เมื่ออายุ 17 ปี แม่ของเขาบริจาคหนังสือให้มหาวิทยาลัย และสร้างห้องสมุดให้ด้วย บนโต๊ะเขียนหนังสือมีแจกันดอกไม้ตั้งไว้ทุกวันตามพินัยกรรม ที่นี่มีหนังสือมากมาย ส่วนใหญ่ทำบัญชีเข้าใน database เรียบร้อยแล้ว

Houghton Library … เมื่อไปถึง Mr. Richard Wendorf ผู้อำนวยการหอสมุดพาชม มีหนังสือดีๆ อยู่มาก มีหนังสือของกวีและนักประพันธ์ที่สำคัญๆ … มีหนังสือภาษาสันสกฤต

Harvard-Yenching Library ... ห้องสมุดสุดท้ายที่ไปดู คือ Harvard-Yenching Library มี Dr. Eugene Wen-Chin Wu บรรณารักษ์ เป็นคนอธิบาย เอาหนังสือจีนเก่าๆ ออกมาให้ดูมาก

รายการอ้างอิง

เยือนถิ่นอินเดียแดง. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ธนาคารไทยพาณิชย์, 2537.

เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ ในวันที่ 2 เมษายน 2558 สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเพื่อเป็นการร่วมกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ด้วยการจัดกิจกรรมรวมรวบความรู้จากเว็บไซต์และอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ตอนที่ 78)