เรื่องเล่าจากสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์สำหรับห้องสมุดละหอจดหมายเหตุ”

สัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์สำหรับห้องสมุดละหอจดหมายเหตุ
วันพุธที่
17 ธันวาคม 2557 เวลา 09.00 – 17.00 น.
ณ ห้องประชุมอโนมา
1 โรงแรมอโนมา กรุงเทพมหานคร

การสัมมนาในวันนี้นับว่าเป็นประโยชน์ต่อบรรณารักษ์และผู้อยู่ในแวดวงของห้องสมุดและจดหมายเหตุเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากตลอดเวลาที่ผ่านมา มักมีการถกเถียง สงสัย หรือไม่แน่ใจในการให้บริการของห้องสมุด ไม่ว่าจะเป็นการสำเนาสิ่งพิมพ์ที่มีในห้องสมุด การจัดทำดิจิทัลไฟล์ หรือแม้กระทั่งการแปลเอกสารเพื่อการปฏิบัติงานในห้องสมุด

จากการบรรยายของวิทยากรแต่ละท่าน สิ่งซึ่งมักถูกอ้างอิงถึงเสมอเมื่อกล่าวถึงการละเมิดลิขสิทธิ์ คือมาตรา 32 วรรค 1 ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ที่มา : พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

มาตรา 32 การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ หากไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

ภายใต้บังคับบทบัญญัติในวรรคหนึ่ง การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามวรรคหนึ่ง มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้

(1) วิจัยหรือศึกษางานนั้น อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
(2) ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นในครอบครัวหรือญาติสนิท
(3) ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
(4) เสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
(5) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของศาลหรือเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือในการรายงานผลการพิจารณาดังกล่าว
(6) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏโดยผู้สอนเพื่อประโยชน์ในการสอนของตน อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
(7) ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนของงาน หรือตัดทอนหรือทำบทสรุปโดยผู้สอนหรือสถาบันศึกษา เพื่อแจกจ่ายหรือจำหน่ายแก่ผู้เรียนในชั้นเรียนหรือในสถาบันศึกษา ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการกระทำเพื่อหากำไร
(8) นำงานนั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถามและตอบในการสอบ

จากมาตรา 32 วรรค 1 หากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแวดวงของผู้ให้บริการเช่นห้องสมุด ผู้ประกอบอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ หรือแม้กระทั่งผู้เป็นเจ้าของผลงานได้ตระหนักและพิจารณาด้วยความเป็นธรรมแล้วย่อมจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้กฎหมายลิขสิทธิ์เป็นข้อตกลงที่สามารถช่วยเราสามารถทำงานกันได้ง่ายขึ้น

ความรู้ใหม่ที่ได้รับจากการสัมมนานี้คือ ลิขสิทธิ์เป็นสิ่งซึ่งถูกคุ้มครองโดยอัตโนมัติโดยมิต้องจดทะเบียน เพียงแต่อาศัยการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์แก่กรมทรัพย์สินทางปัญญาและมีการกรอกข้อมูลในแบบฟอร์มพร้อมแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ก็สามารถได้รับหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ที่ถูกต้อง โดยสิ่งที่ต้องตระหนักต่อไปคือลิขสิทธิ์มีอายุการคุ้มครอง ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเป็นลิขสิทธิ์ของงานประเภทใด เช่น วรรณกรรม ศิลปกรรม (ไม่รวมศิลปประยุกต์) นาฎกรรม ดนตรีกรรม และงานอื่นใดในแผนกวิทยาศาสตร์และศิลปะ หากเป็นการสร้างสรรค์โดยบุคคลธรรมดา อายุการคุ้มครองงานลิขสิทธิ์จะเท่ากับตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์และจะคุ้มครองต่อไปอีก 50 ปี แต่หากเป็นการสร้างสรรค์โดยนิติบุคคล อายุการคุ้มครองงานลิขสิทธิ์คือ 50 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานขึ้น หรือโฆษณางานครั้งแรก (ถ้ามี)

สำหรับการพัฒนาของอุตสาหกรรมหนังสือและสิ่งพิมพ์ สิ่งซึ่งเป็นประเด็นมากในปัจจุบันคือเรื่องของการจัดทำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-book) เนื่องจากการผลิตและเผยแพร่ E-book มีผลกระทบต่อยอดขายของสิ่งพิมพ์อย่างเห็นได้ชัด และยังไม่มีนโยบายควบคุมที่ชัดเจนว่า E-book ที่ห้องสมุดได้จัดหาเข้ามา หรือ E-book ที่ผลิตขึ้นเอง ควรได้รับการคุ้มครองในรูปแบบใดบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจำนวนการเข้าถึงของผู้ใช้บริการ การทำสำเนา การพิมพ์ เป็นต้น

ช่วงท้ายของการสัมมนาเป็นการเปิดเวทีอภิปราย “แนวทางการสร้างสมดุลในการคุ้มครองลิขสิทธิ์ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์ และการนำประโยชน์จากข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์สำหรับห้องสมุดและหอจดหมายเหตุในยุคดิจิทัล” ซึ่งสิ่งที่เป็นข้อสรุปโดยภาพรวมจากวิทยากรแต่ละท่านคือการเสนอให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ได้แก่ ผู้สร้างสรรค์ผลงาน หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการให้บริการและเผยแพร่สิ่งพิมพ์ ได้แก่ ห้องสมุด หอจดหมายเหตุ และหน่วยงานผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ ได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนระดมความคิดเห็นเพื่อผลักดันให้มีระเบียบหรือกฎหมายที่รองรับให้ชัดเจน