พูดโดนใจใน 7 วัน

พูดโดนใจใน 7 วัน หรือ Presentation in a week โดย Malcolm Peel แปลและเรียบเรียงโดย จินดารัตน์ บวรบริหาร เป็นหนังสือฝึกการพูดต่อหน้าผู้อื่น หรือการพูดในที่ชุมชน โดยผู้เขียนแนะนำวิธีการฝึกพูดในแต่ละวัน

พูดโดนใจใน 7 วัน
พูดโดนใจใน 7 วัน

วันอาทิตย์: การเตรียมความพร้อมในการพูด

การเตรียมความพร้อมในการพูด  ได้แก่ การเตรียมความพร้อมในเรื่อง การวิเคราะห์โอกาสในการพูด การทำความรู้จักผู้ฟัง การศึกษาสถานที่ในการพูด และการกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของคุณ

ในเรื่องของการวิเคราะห์โอกาสในการพูด นั้นผู้เขียนได้จัดทำรายการสำหรับการวิเคราะห์โอกาสในการพูดไว้ เช่น องค์กรใดที่จัดงาน วัตถุประสงค์ในการจัดงาน ลักษณะของงาน เวลาในการพูด การแต่งกาย เป็นต้น

การทำความรู้จักผู้ฟัง โดยประเมินจากรายการ เช่น จำนวนของผู้ฟัง เหตุผลในการเข้าฟัง เป็นต้น

ศึกษาสถานที่ในการพูด ควรได้มีการศึกษาสถานที่ที่จะไปพูด เพื่อจะได้มีการเตรียมอุปกรณ์ หรือเจ้าของงานได้เตรียมอุปกรณ์อะไรบ้าง และเมื่อไปถึง ควรได้มีการทดลองอุปกรณ์ต่างๆ ด้วย โดยมีรายการที่ควรตรวจสอบ ได้แก่ วิธีการเดินทาง เวลาที่ใช้ในการเดินทาง ต้องพูดบนเวที หรือมีโพเดียม ระบบเสียง ตำแหน่งของการจัดอุปกรณ์การแสดงภาพ เป็นต้น

กำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของงาน ผู้พูดต้องทำการบ้าน โดยกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการพูดอย่างแม่นยำและตรงกับหน่วยงานที่เชิญไปพูด

วันจันทร์: เป็นการเตรียมเนื้อหา

โดยการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ และอย่างเตรียมข้อมูลเยอะเกินไป จนลืมนึกถึงเวลา ควรคำนึงว่าข้อมูลที่เตรียมนั้น ครอบคลุมกับสิ่งที่ต้องนำเสนอ หรือไม่ อาจจะต้องมีการตัดทิ้งไป ถ้าไม่กระทบกับสาระสำคัญของเนื้อหา หากมีเวลาไม่พอ เมื่อได้ข้อมูลแล้ว ถึงขั้นการออกแบบโครงสร้าง เพราะโครงสร้างที่ดี จะเป็นการดึงดูดความสนใจ ทำให้เข้าใจง่ายขึ้น และสาระที่ต้องการสื่อสารเป็นที่จดจำได้มากยิ่งขึ้น

ในส่วนของบทนำการพูด ผู้พูดต้องพยายามดึงดูดความสนใจของผู้ฟังให้ได้ อาจทำโดย การสร้างเรื่องตลก เล่าเกร็ดเล็กเกร็ด สร้างประเด็นที่มีความขัดแย้ง เป็นต้น ในช่วงหลักของการพูด ควรใส่หัวข้อหลัก 3-6 หัวข้อ ไม่ควรมากเกินไปจะให้สับสนได้ สำหรับบทสรุป ต้องให้ผู้ฟังพึงพอใจหลังจากที่พูดจบ อาจจบด้วยประเด็นที่พูดเมื่อตอนเริ่ม ท้าทายหรือเรียกร้องให้เกิดการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ทิ้งคำถามให้ผู้ฟังนำกลับไปคิด

วันอังคาร: การเลือกและเตรียมอุปกรณ์

เป็นตัวช่วยอย่างหนึ่ง คือ ช่วยดึงดูดความสนใจ ช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจง่ายยิ่งขึ้น ช่วยในการจดจำ และช่วยให้ความบันเทิง ซึ่งควรเป็นตัวเสริมสร้างเนื้อหาของการพูด และเข้ากันได้กับอุปกรณ์ที่มีให้

วันพุธ: การเตรียมความพร้อมขั้นสุดท้าย

การมีบทพูดจะช่วยเสริมความมั่นใจ อาจใช้การ์ดบันทึกหัวข้อหลัก การซ้อมพูด จะช่วยให้ลดความวิตกกังวล เพิ่มประสิทธิภาพในการพูด สามารถควบคุมเวลา และปรับแต่งเนื้อหาในการพูดได้อีก

วันพฤหัสบดี: การรับมือกับความวิตกกังวล

ความวิตกกังวล เกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะผู้พูดหน้าใหม่ เพราะกลัวว่าจะไม่มีเนื้อหาในการพูด พูดไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของงาน เป็นต้น ผู้พูดจึงควรลดความวิตกกังวล อาจด้วยการสูดหายใจเข้าออกลึกๆ เพื่อให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย หรือจินตนาการถึงความสำเร็จ หรือเบี่ยงเบนความวิตกกังวล เช่น กำวัตถุให้แน่น จะทำให้นึกถึงความรู้สึกนั้น ทำให้ลืมความวิตกกังวลไปได้ และควรมีการตรวจความพร้อมของสถานที่ เช่น อุปกรณ์ อยู่ในตำแหน่งที่ผู้พูดสามารถใช้ได้อย่างสะดวก และไม่บังการมองเห็นของผู้ฟัง เครื่องขยายเสียง ซอฟต์แวร์ที่้ต้องใช้

วันศุกร์: การพูดที่น่าประทับใจ

ปัจจัยที่ทำให้การพูดประสบความสำเร็จ คือ มีการเริ่มต้นที่ดี มีบรรยากาศเหมาะสม (ต้องมีการสร้างและรักษาปฏิสัมพันธ์กับผู้ฟัง พยายามชักจูง เข้าใจและตอบสนองต่ออารมณ์ของผู้ฟัง และควรสังเกตการแสดงออกทางสีหน้า การสบตา การมองนาฬิกา ฯลฯ อาจสื่อความหมายบางอย่างได้) ใช้น้ำเสียงที่พอดี (เปล่งเสียงให้ชัดเจนและดังให้ได้ยินอย่างทั่วถึง ออกเสียงอักขระให้ชัดเจน) มีท่าทางสอดคล้อง (ตำแหน่งของการยืน การวางมือ การประสานสายตาม กิริยาท่าทาง) อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบได้ดี มีการรักษาเวลา มีการสรุปตอบจบที่ประทับใจ

วันเสาร์: การตอบคำถามผู้ฟัง

ผู้พูดต้องรับมือกับคำถามจากผู้ฟัง ผู้พูดควรมีการแจ้งให้ผู้ฟังทราบว่าควรจะตั้งคำถามเมื่อไร ซึ่งช่วงที่เหมาะสำหรับถามคำถาม ได้แก่ หลังจากแต่ละช่วงของการพูดจบลง ช่วงท้ายของการพูด และเมื่อได้ยินคำถาม ควรฟังอย่างตั้งใจตั้งแต่ต้นจนจบ หากจำเป็นให้ทวนคำถามซ้ำหรือเรียบเรียงคำถามใหม่ ไม่ทำให้ผู้ที่ถามรู้สึกแย่ ไม่จำเป็นต้องตอบทุกคำถาม มีเทคนิคที่ใช้ในการเลี่ยงที่จะตอบคำถามตรงๆ เช่น ขอคำอธิบายเพิ่มเติมจากผู้ถาม โยนให้ผู้ฟังช่วยตอบ ถามกลับ ยอมรับตามตรงว่าไม่ทราบคำตอบ (พร้อมทั้งบอกว่าจะไปหาคำตอบมาให้) บอกว่าจะตอบคำถามภายหลัง ให้คำชี้แนะเพื่อช่วยให้ผู้ถามได้รับคำตอบของคำถาม ค่อยๆ พูดนอกเรื่อง ทำให้สถานการณ์เป็นเรื่องตลก ทำเป็นไม่ได้ยิน