การจัดหาทรัพยากรสารสนเทศเข้ามาในห้องสมุด เช่น การซื้อหนังสือเข้ามาไม่ว่าจะเล่มเดียวหรือหลายเล่มก็ตาม ต้องมีข้อมูลที่จำเป็นของการจัดซื้อหนังสือเล่มนั้นๆ บันทึกเก็บไว้ เช่น ชื่อผู้แต่ง ชื่อหนังสือ ร้านค้า สำนักพิมพ์ ราคา เบอร์ติดต่อ และข้อมูลอื่นๆ ที่ห้องสมุดเห็นความจำเป็นในการบันทึกไว้
ไม่น่าเชื่อ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ที่รู้จักกันดี ได้เขียนข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ ไว้ในหนังสือทุกเล่มที่เขาซื้อมาด้วยเช่นกัน ขออัญเชิญข้อความจากหนังสือ เรื่อง ทวิภาคสัญจร พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินงานเอกซโปที่เมืองเซวีญา ประเทศสเปน ระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม – 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 โดยเสด็จพระราชดำเนิน ทอดพระเนตรห้องสมุดโคลัมบัส ดังนี้ [1]
“ห้องสมุดโคลัมบัส (Biblioteca Columbina) มีหนังสือเก่าๆ มาก แต่ส่วนที่สำคัญที่สุด คือ ส่วนที่บุตรชายของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส บริจาคให้ เป็นหนังสือ เอกสาร ต้นฉบับ เกือบ 5,000 เล่ม ที่สำคัญมากต่อวิชาการห้องสมุด คือ เขาจะเขียนไว้ในหนังสือทุกเล่ม ว่าเขาซื้อหนังสือนี้มาจากไหน เมื่อไร ราคาเท่าใด เขียนเบอร์ไว้ด้วย”
รายการอ้างอิง
[1] เทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระ. ทวิภาคสัญจร. กรุงเทพฯ : ธนาคารไทยพาณิชย์, 2535.
เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ ในวันที่ 2 เมษายน 2558 สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเพื่อเป็นการร่วมกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ด้วยการจัดกิจกรรมรวมรวบความรู้จากเว็บไซต์และอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ตอนที่ 43)