Tag Archives: การจัดหาหนังสือ

การจัดซื้อหนังสือภาษาต่างประเทศที่ร้านนำมาเสนอขาย

ในการซื้อหนังสือภาษาต่างประเทศของห้องสมุดสัญญาฯ นั้น ส่วนมากอาจารย์ในคณะนิติศาสตร์เป็นผู้เลือกให้เพราะว่าจะได้ตรงตามความประสงค์ของอาจารย์ที่ต้องการใช้เองและให้นักศึกษาค้นคว้าด้วย ขั้นตอนในการจัดซื้อมีดังนี้คือ

  1. ตรวจนับตัวเล่มที่ร้านมาเสนอให้ตรงกับรายการในใบเสนอราคา/ใบส่งของ แล้วเซ็นรับหนังสือ ในช่องผู้รับ
  2. ตรวจเช็คกับโปรแกรม Koha ว่าห้องสมุดมีแล้วหรือไม่ และ Senayan เพื่อดูว่าเคยสั่งซื้อแล้วหรือไม่ เพื่อป้องกันการสั่งซื้อซ้ำ
  3. เมื่อตรวจแล้วพบว่าไม่เคยสั่งซื้อหรือยังไม่มี จึงพิมพ์รายชื่อหนังสือและทำสำเนาส่งให้อาจารย์เพื่อเลือก มีกำหนดระยะเวลาในการเลือกประมาณ 15 วัน โดยอาจารย์จะมาเลือกด้วยตัวเองที่ห้องสมุดหรือส่งเฉพาะรายชื่อที่เลือกมาก็ได้
  4. เมื่อครบกำหนดเวลาแล้วก็จะนำหนังสือที่อาจารย์เลือกไว้มาตรวจสอบกับระบบของห้องสมุดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้ไม่ซื้อหนังสือซ้ำ จากนั้นก็โทรแจ้งร้านค้าให้ทำใบส่งของและใบเสนอราคาตามรายการที่อาจารย์เลือกไว้ จำนวน 3 ชุด
  5. นำตัวเล่มส่วนที่เลือกไว้มาเขียนตัวอักษร “น” ว่าเป็นของห้องสมุดสัญญาฯ ที่ตรงกลางด้านบนของหน้า title page  มีกระดาษเสียบไว้ที่ตัวเล่มซึ่งเขียนรายละเอียดเกี่ยวกับราคาหนังสือเล่มนั้น ชื่ออาจารย์ผู้สั่งซื้อ เป็นหนังสือพิมพ์ใหม่หรือพิมพ์แก้ไขเพิ่มเติม ตามหลักเกณฑ์ที่ฝ่ายบริหารจัดการกำหนด แล้วเขียนหมายเลขลำดับที่ตามใบ invoice เพื่อให้ฝ่ายบริหารจัดการตรวจสอบกับรายการใน invoice ได้สะดวกรวดเร็ว
  6. มัดตัวเล่มเพื่อเตรียมส่งฝ่ายบริหารจัดการทรัพยากรสารสนเทศ
  7. พิมพ์บันทึกข้อความ ลงรายละเอียดซื้อร้านค้า เลขที่ใบส่งของ ใบเสนอราคา จำนวนเงิน จำนวนรายการและเล่ม แนบกับใบส่งของและใบเสนอราคา ส่งพร้อมตัวเล่มหนังสือให้ฝ่ายบริหารจัดการทรัพยากรสารสนเทศ
  8. ลงรายการงบประมาณของห้องสมุดที่ Drop Box ใน folder ตรวจสอบงบประมาณ

เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการจัดซื้อหนังสือภาษาต่างประเทศที่ร้านนำมาเสนอขาย

โคลัมบัสกับหนังสือ

การจัดหาทรัพยากรสารสนเทศเข้ามาในห้องสมุด เช่น การซื้อหนังสือเข้ามาไม่ว่าจะเล่มเดียวหรือหลายเล่มก็ตาม ต้องมีข้อมูลที่จำเป็นของการจัดซื้อหนังสือเล่มนั้นๆ บันทึกเก็บไว้ เช่น ชื่อผู้แต่ง ชื่อหนังสือ ร้านค้า สำนักพิมพ์ ราคา เบอร์ติดต่อ และข้อมูลอื่นๆ ที่ห้องสมุดเห็นความจำเป็นในการบันทึกไว้

ไม่น่าเชื่อ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ที่รู้จักกันดี ได้เขียนข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ ไว้ในหนังสือทุกเล่มที่เขาซื้อมาด้วยเช่นกัน ขออัญเชิญข้อความจากหนังสือ เรื่อง ทวิภาคสัญจร พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินงานเอกซโปที่เมืองเซวีญา ประเทศสเปน ระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม – 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 โดยเสด็จพระราชดำเนิน ทอดพระเนตรห้องสมุดโคลัมบัส ดังนี้ [1]

“ห้องสมุดโคลัมบัส (Biblioteca Columbina) มีหนังสือเก่าๆ มาก แต่ส่วนที่สำคัญที่สุด คือ ส่วนที่บุตรชายของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส บริจาคให้ เป็นหนังสือ เอกสาร ต้นฉบับ เกือบ 5,000 เล่ม ที่สำคัญมากต่อวิชาการห้องสมุด คือ เขาจะเขียนไว้ในหนังสือทุกเล่ม ว่าเขาซื้อหนังสือนี้มาจากไหน เมื่อไร ราคาเท่าใด เขียนเบอร์ไว้ด้วย”

รายการอ้างอิง

[1] เทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระ. ทวิภาคสัญจร. กรุงเทพฯ : ธนาคารไทยพาณิชย์, 2535.

เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ ในวันที่ 2 เมษายน 2558 สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเพื่อเป็นการร่วมกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ด้วยการจัดกิจกรรมรวมรวบความรู้จากเว็บไซต์และอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ตอนที่  43)

เล่มหนึ่งก็ซึ้งใจ

การขอหนังสือบริจาคเป็นงานอีกส่วนหนึ่งของห้องสมุดโดยทั่วไป ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งในการจัดหาหนังสือหรือทรัพยากรสารสนเทศอื่นๆ เข้ามาในห้องสมุด นอกจากการจัดซื้อ

หนังสือที่ขอรับบริจาคเป็นหนังสือที่มีลักษณะเฉพาะ ไมมีการซื้อ-ขาย และมีคุณค่าในตัวเอง สำหรับสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ในส่วนที่ทำการขอรับบริจาค แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

1. สิ่งพิมพ์ ของกระทรวงทั้งหมด 20 กระทรวง รวมถึง มูลนิธิ สมาคม องค์กรเอกชน ต่าง ๆ สิ่งพิมพ์ที่ทำการขอได้แก่ สิ่งพิมพ์รัฐบาล งานวิจัย
2. ที่ระลึกครบรอบปีของหน่วยงาน และสิ่งพิมพ์ในวาระพิเศษต่าง ๆ ได้แก่ หนังสือที่ระลึกในอนุสรณ์งานศพ หนังสือที่ระลึกส่วนบุคคล เช่น ครบรอบ 80 ปี 100 ปี ของบุคคลที่มีคณูปการแก่ประเทศชาติ เช่น 100 ปี ดร. ถนัด คอมันตร์ ในชื่อที่ว่า ”แต่พ่อที่รักของลูก” และหนังสือวาระพิเศษของหน่วยงาน เช่น เพาะช่าง 100 ปี

ทักษะต่าง ๆ ทีใช้ในการขอรับบริจาคหนังสือ Continue reading เล่มหนึ่งก็ซึ้งใจ

การบันทึกรายการใน Sanayan

Sanayan คือ โปรแกรมโอเพนซอร์ส ที่สามารถจัดเก็บทั้งเอกสารดิจิทัลและลงรายการบรรณานุกรมทรัพยากรสารสนเทศห้องสมุดได้

สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำโปรแกรมนี้ มาใช้เพื่อลดการสั่งซื้อหนังสือซ้ำกันของห้องสมุดสาขา ซึ่งทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณในการจัดซื้อทรัพยากรสารสนเทศ

สำหรับหนังสือใหม่ที่หอสมุดปรีดีฯจัดหามาจะนำรายชื่อหนังสือเหล่านี้ไปบันทึกข้อมูลในโปรแกรม Sanayan ซึ่งต้องตรวจสอบหนังสือในโปรแกรม Sanayan ก่อนว่าไม่มีหนังสือเล่มนี้เพื่อหนังสือจะได้ไม่ซ้ำกับห้องสมุดสาขาอื่นๆ ถ้าหนังสือซ้ำในโปรแกรม Sanayan จะไม่นำหนังสือบันทึกลงในฐานข้อมูล (นอกจากกรณีที่หนังสือไม่เพียงพอให้บริการกับอาจารย์และนักศึกษาจึงจะสั่งซื้อเพิ่ม) ถ้าหนังสือที่ตรวจสอบใน โปรแกรม Sanayan ไม่พบว่ามีในฐานข้อมูล ให้บันทึกลงในฐาน  ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ Continue reading การบันทึกรายการใน Sanayan