อาเซียน ไทย และ มหาอำนาจ ในยุคแห่งการปฏิรูป

20150521_09460820150521_094807

การสัมมนา TU-ASEAN Forum ครั้งที่ 10 เรื่อง   “อาเซียน  ไทย และ มหาอำนาจ  ในยุคแห่งการปฏิรูป” วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม 2558 เวลา 08.30 – 16.30 น. ณ โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพ ฟอร์จูน การสัมมนาในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายเชิดเกียรติ  อัตถากร รองอธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ มากล่าวปาฐกถาพิเศษ โดยกล่าวถึง ความสัมพันธ์ระหว่างไทย อาเซียน และมหาอำนาจ ใน 3 ประเด็น ได้แก่

  1. ความท้าทายในภูมิภาค ปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีความซับซ้อน เศรษฐกิจกำลังเติบโตไปข้างหน้า ขณะที่ความขัดแย้งในภูมิภาคก็เพิ่มมากขึ้น มีการเผชิญหน้าระหว่างประเทศกันมากขึ้น เกิดการผงาดขึ้นของจีน (The Rise of China) จีนจัดตั้ง Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) มีประเทศที่เข้าร่วมถึง 51 ประเทศ ซึ่งถือเป็นคู่แข่งของ International Monetary Fund (IMF) และ World Bank ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวเรือใหญ่ และ Asian Development Bank (ADB) ที่มีญี่ปุ่นเป็นหัวโจก    ขณะที่ญี่ปุ่นเองก็ปรับยุทธศาสตร์เพิ่มงบประมาณทางทหารเพื่อป้องกันประเทศ ทางสหรัฐอเมริกาก็แสดงบทบาทด้านความมั่นคงและทางทหารมากขึ้นในภูมิภาค
  2. ความท้าทายของอาเซียนในปัจจุบัน การรวมตัวของอาเซียนได้รับการยอมรับและมีจุดแข็งที่สามารถเข้ากับมหาอำนาจได้ อาเซียนเป็นประชาคมที่ยึดหลัก “ฉันทามติ”  มีบรรทัดฐานร่วมกัน และ “การไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน” เป็นประชาคมที่ทำให้ภูมิภาคสงบสุข และแข็งแกร่ง ตลอดจนมีพลวัตและมองไปยังโลกภายนอก นอกจากนี้อาเซียนยังเป็นกลไกความร่วมมือของภูมิภาค รักษาความเป็นกลางในการดำเนินความสัมพันธ์ต่างๆ กับต่างประเทศที่เป็นคู่เจรจา สำหรับบทบาทของอาเซียนกับมหาอำนาจ หลังปี 2558 ประชาคมอาเซียนจะเน้นย้ำเรื่องความมั่นคง การใช้หลักธรรมาภิบาล และหลักสิทธิมนุษยชน
  3. ไทยจะดำเนินทิศทางอย่างไรในกรอบอาเซียนและกรอบมหาอำนาจ ไทยมีจุดแข็งในเชิงภูมิศาสตร์ เป็นศูนย์กลางการขยายการลงทุนของอาเซียน ขณะที่อาเซียนมีการเชื่อมโยงกับมหาอำนาจภายนอก มีการจัดทำการค้าเสรีกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ฯลฯ โดยสรุป ในการขับเคลื่อนประเทศไทยในศตวรรษที่ 21  ต้องคำนึงถึงบรรทัดฐานและค่านิยมในความร่วมมือระหว่างประเทศ และการพัฒนาด้านเศรษฐกิจต้องรักษาสมดุลของประเทศสมาชิกและมหาอำนาจ ตลอดจนผลประโยชน์โดยรวม เพื่อให้เกิดความมั่งคั่งและยั่งยืน

20150521_103800

สำหรับการสัมมนาแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่

การสัมมนาช่วงที่ 1 : ความสัมพันธ์อาเซียน ไทย กับ สหรัฐอเมริกา มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่

  1. รศ. ดร. ประภัสสร์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  1. คุณพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ที่ปรึกษาหอการค้าไทย

โดยมี รศ. ดร. ชัยชนะ อิงคะวัต อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นผู้ดำเนินรายการ

รศ. ดร. ประภัสสร์ เทพชาตรี กล่าวถึง ความสัมพันธ์อาเซียน ไทย กับ สหรัฐอเมริกา มีเนื้อหาสรุปได้ ดังนี้

สหรัฐอเมริกามีเป้าหมายต่อภูมิภาค 4 เป้าหมาย ได้แก่

  1. ความต้องการครองความเป็นเจ้า
  2. การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน
  3. การป้องกันไม่ให้ประเทศในเอเชีย รวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐอเมริกา
  4. เรื่องผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาต่อภูมิภาค

ในอดีต ตั้งแต่สมัยสงครามเย็น สหรัฐอเมริกามีบทบาทและอำนาจมากที่สุดในโลก ทั้งทางทหาร เศรษฐกิจ และทุก ๆ ด้าน  เป็นผู้นำการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ใช้ยุทธศาสตร์  “Hub and Spokes”  ในด้านการเมือง และความมั่นคง โดยสหรัฐอเมริกา เป็น Hub หรือดุมล้อ ขณะที่ประเทศพันธมิตรต่าง ๆ เป็น Spokes หรือซี่ล้อของสหรัฐอเมริกา และเน้นความสัมพันธ์แบบพหุภาคีเป็นหลัก ในช่วงสงครามเย็นนี้ ไทยเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มที่

พอสงครามเย็นสิ้นสุดลง เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมานี้เกิดปรากฏการณ์ที่ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อภูมิภาคและสหรัฐอเมริกา คือ

  1. การผงาดขึ้นมาของจีน (The Rise of China) ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยและอาเซียน ในเรื่องการท่องเที่ยว การลงทุน โครงสร้างพื้นฐาน สร้างถนน และรถไฟ จีนเจรจา FTA กับอาเซียนมาตั้งแต่ปี 2001 เป็น Strategic Partner ของอาเซียน ลงนามรับรอง TAC ของอาเซียนก่อนใคร แถลงจุดยืนเรื่อง SEANWFZ หรือเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในอาเซียน ก่อนใคร รวมทั้งลงนามข้อตกลงด้านการลงทุนกับอาเซียน และตั้งกองทุนช่วยเหลืออาเซียน วงเงิน 2 หมื่นล้านเหรียญ
  2. การผงาดขึ้นมาของเอเชีย (The Rise of Asia) เอเชียกำลังจะกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลก ไม่ว่าจีน ญี่ปุ่น อินเดีย หรือเกาหลี ก็เป็นประเทศที่อยู่ในเอเชียทั้งสิ้น
  3. การผงาดขึ้นมาของอาเซียน (The Rise of ASEAN) ความสามัคคีและการรวมตัวกันของประเทศสมาชิกทำให้อาเซียนเป็นสถาบันหลักของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาค ขณะนี้มหาอำนาจไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และมหาอำนาจอื่น ๆ จะต้องเดินทางมาประชุมสุดยอดกับอาเซียนทุกปี

จากปรากฏการณ์ดังกล่าวข้างต้น ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ และนโยบายใหม่เพื่อแข่งขันกับจีนในการเอาใจอาเซียน โดยเฉพาะในสมัยรัฐบาล Obama มาประชุมสุดยอดกับอาเซียนครั้งแรกในปี 2009  รับรอง TAC ส่งทูตมาประจำที่อาเซียน เข้าร่วมประชุม ADMM+8 เปลี่ยนท่าทีเรื่อง SEANWFZ เปลี่ยนนโยบายต่อพม่าใหม่หมด รวมทั้งริเริ่ม US – Lower Mekong Initiative

ขณะที่สหรัฐอเมริกากำลังกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียนมากขึ้นในสมัยรัฐบาล Obama ตังแต่ปี 2009 พอดีเป็นช่วงที่ไทยเกิดความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างเสื้อเหลืองกับเสื้อแดง ช่วงที่เกิดรัฐประหาร ปี 2006 สหรัฐอเมริกาได้หยุดความสัมพันธ์กับไทย เพราะสหรัฐอเมริกาจะไม่เจรจากับรัฐบาลทหาร ต่อมาเมื่อเกิดรัฐประหารอีกในปี 2014 สหรัฐอเมริกาประณามการทำรัฐประหาร และกดดันอย่างหนักให้ไทยเดินหน้ากลับคืนสู่ประชาธิปไตย และให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว แต่รัฐบาลทหารของไทยในครั้งนี้คงจะเห็นว่า โลกกำลังจะเปลี่ยนจากระบบขั้วอำนาจเดียวที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าโลก จะเปลี่ยนเป็นระบบหลายขั้วอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนที่กำลังมีอำนาจและบทบาทเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้พยายามเข้าหาจีน ให้จีนเข้ามาช่วยสร้างทางรถไฟ เชื่อมจากกรุงเทพฯไปถึงเวียงจันทน์ และทะลุไปถึงคุนหมิง หลังจากนั้นญี่ปุ่นก็เสนอว่าอยากจะมาช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ไทย ไทยจึงเสนอให้ญี่ปุ่นเข้ามาช่วยสร้างท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมที่ทวาย และสร้างถนน และทางรถไฟ เชื่อมจากทวายมากาญจนบุรี ผ่านกรุงเทพฯ ไปถึงกัมพูชาและเวียดนาม ซึ่งเรียกว่าระเบียงเศรษฐกิจใต้ หรือ Southern Economic Corridor รวมทั้งเส้นระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก หรือ East-west Economic Corridor จากเมียวดีมาแม่สอด พิษณุโลก ขอนแก่น มุกดาหาร สะหวันนะเขต ไปถึงดานัง เกาหลีและรัสเซียก็สนใจที่จะกระชับความสัมพันธ์กับไทย จะเห็นได้ว่าขณะนี้ไทยเน้นเข้าหาจีน ญี่ปุ่น เกาหลี รัสเซีย และอาเซียนด้วย

สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน โดยเฉพาะช่วงหลังจากการเยือนของนายแดเนียล รัสเซล ถึงแม้จะเป็นแค่ระดับอธิบดี แต่ก็ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่มาพบปะรัฐบาลไทยเพื่อพยายามมาฟื้นฟูความสัมพันธ์กับไทย แต่เนื่องจากนายรัสเซลไปกล่าวสุนทรพจน์ที่จุฬาฯ เรื่องการไม่เห็นด้วยกับกฎอัยการศึก เร่งรัดให้ไทยเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย ให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว และเรื่องการพาดพิงกระบวนการถอดถอน และสรุปว่าน่าจะเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง รวมทั้งมีข่าวว่าสถานฑูตจะออกไปพบปะกับเสื้อแดง ทำให้รัฐบาลแสดงความไม่พอใจ และได้เชิญอุปทูตสหรัฐอเมริกาไปพบที่กระทรวงต่างประเทศ และมีกระแสต่อต้านต่าง ๆ ตามมา เหตุการณ์นี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาแย่ลง บางประเทศมองดูว่าสหรัฐอเมริกาเริ่มจะเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอาเซียนมากขึ้น ซึ่งคงจะไม่เป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐอเมริกา เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ไทยควรมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกมหาอำนาจ รวมทั้งสหรัฐอเมริกาด้วย แต่ไทยควรมียุทธศาสตร์ทำให้ประเทศตะวันตกเข้าใจสถานการณ์ของไทยว่าเราอยู่ในสถานะอะไร กำลังจะเดินหน้าปฏิรูปอย่างไร เราจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ รัฐบาลต้องรีบทำประชาสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกให้เข้าใจไทยมากขึ้น

คุณพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล  กล่าวว่า อาเซียนและสหรัฐอเมริกา มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกันในด้านการต่อต้านการก่อการร้าย โดยมีการจัดทำปฎิญญาร่วมอาเซียน-สหรัฐอเมริกาเพื่อความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศในปี 2545 ส่วนด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในเอกสารกรอบความตกลงการค้าและการลงทุน ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการร่วมมือกับอาเซียนเกี่ยวกับการสนับสนุนการรวมตัวของอาเซียน ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ และการเสริมสร้างประสิทธิภาพของสำนักเลขาธิการอาเซียน

สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกามีมานานแล้ว ในด้านเศรษฐกิจ ไทยทำการค้ากับสหรัฐอเมริกา ไทยได้ดุลการค้ามาตลอด ที่ผ่านมาการค้ากับสหรัฐอเมริกามีผลของต้นทุนและกำไร แต่ปัจจุบันลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาไม่ดี และมีจีนเข้ามาเป็นคู่แข่ง โดยสรุปสินค้าและตลาดของสหรัฐอเมริกา ไทยยังต้องพึ่งพาอยู่ ธุรกิจทั้งหลายต้องปรับโครงสร้างอย่างมาก อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราก็เป็นการแข่งขันอีกประเภทหนึ่ง  ไทยต้องเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีการทำธุรกิจ ต้องทำให้ไทยเป็นที่หนึ่งท่ามกลางความเท่าเทียมกันทั้งหมด (First Among Equals)

20150521_132139

การสัมมนาช่วงที่ 2 : ความสัมพันธ์อาเซียน ไทย กับ จีน   

มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่

  1. รศ. ดร. จุลชีพ ชินวรรโณ กีรตยาจารย์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  1. รศ. ดร. สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

โดยมี อาจารย์พิชญ์อาภา พิศุทธ์เศรณี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินรายการ

รศ. ดร. จุลชีพ ชินวรรโณ กล่าวถึง ความสัมพันธ์อาเซียน ไทย กับ จีน ดังต่อไปนี้ :

ในศตวรรษที่ 21 ภูมิทัศน์ทางยุทธศาสตร์    (Strategic Landscape) ในระดับโลกและระดับภูมิภาคกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างหลากหลายทั้งในเชิงปริมาณ เช่น ด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี เป็นต้น ในเชิงคุณภาพมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างอำนาจ  เช่น  ประเทศตะวันตกกำลังถดถอยด้านอำนาจ ขณะที่ทางเอเชียมีการขยายบทบาทมากขึ้น เกิดการผงาดขึ้นมาของจีน (The Rise of China) เป็นต้น

เมื่อก่อนด้านการเมืองอยู่ในระเบียบโลกที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นศูนย์กลาง มีสหประชาชาติ (United Nations: UN) เป็นกลไกสำคัญ ด้านเศรษฐกิจก็มีสหรัฐอเมริกาเป็นศูนย์กลาง และมี IMF เป็นกลไกสำคัญ ปัจจุบันเกิดระเบียบเศรษฐกิจทางการเงินใหม่ เกิดธนาคารการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเอเชีย (AIIB) ซึ่งเป็นของจีน และเป็นคู่แข่งของ World Bank จะเห็นได้ว่าระบบโลกเศรษฐกิจมี 2 ระบบ ภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา และภายใต้การนำของจีนที่มี AIIB เป็นกลไกสำคัญ การทยานขึ้นของจีนเป็นการก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจจากอันดับที่สามสิบกว่า มาเป็นอันดับที่ 2 ของโลก จีนกลายเป็นผู้ส่งสินค้าเป็นอันดับแรกของโลก

สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับจีน เป็นความสัมพันธ์ที่มีหลายมิติ ทั้งทางด้านภูมิยุทธศาสตร์ ภูมิเศรษฐศาสตร์ มีทั้งความร่วมมือและความขัดแย้งในผลประโยชน์ บางประเทศอาจมีความสัมพันธ์มากกว่าความขัดแย้ง บางประเทศมีความขัดแย้งมากกว่าผลประโยชน์ร่วมกัน ทุกวันนี้จีนเป็นคู่ค้าทางเศรษฐิกจที่สำคัญของอาเซียน จีนเป็นผู้นำเข้าสินค้าของอาเซียน เช่น น้ำมันจากมาเลเซีย และยางพาราจากไทย เป็นต้น จีนเป็นแหล่งลงทุนขนาดใหญ่ของอาเซียน และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนากองทัพของกัมพูชา

ปัญหาที่ทำให้จีนและอาเซียนมีความขัดแย้งและไม่สามารถใกล้ชิดกันได้ ต่างฝ่ายต่างหวาดระแวงซึ่งกันและกัน คือ กรณีพิพาทเรื่อง ทะเลจีนใต้และหมู่เกาะสแปรตลีย์ ปัจจุบัน เกาะ 45 เกาะในหมู่เกาะสแปรตลีย์เป็นที่ตั้งกองกำลังทหารของกองทัพเวียดนาม สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน เพื่อเป็นการยืนยันสิทธิในพื้นที่พิพาทซึ่งเกี่ยวพันถึงการอ้างสิทธิเหนือทรัพยากรธรรมชาติน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ

เมื่อสองสามเดือนที่ผ่านมา มีข่าวว่าจีนจะสร้างเกาะเทียมบริเวณทะเลจีนใต้ ซึ่งเวียดนามถือเป็นภัยคุกคาม และสหรัฐอเมริกาจะส่งเครื่องบินไปสำรวจ จึงเป็นสิ่งท้าทายสำหรับอาเซียนว่าจะดำเนินการอย่างไรที่จะให้มหาอำนาจอยู่ร่วมกันได้ ไม่เกิดการเผชิญหน้ากัน โดยที่อาเซียนได้ผลประโยชน์มากที่สุด

ขณะที่ รศ. ดร. สมภพ มานะรังสรรค์ กล่าวถึงเรื่องอาเซียนและไทยภายใต้การแข่งขันด้านการเมืองและเศรษฐกิจของ 2 มหาอำนาจ คือ สหรัฐอเมริกาและจีน  ก่อนที่จีนจะเปิดประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียนเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ผู้ปกครองของทุกประเทศต่อต้านจีนภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา

ช่วงปี 1980 จีนอาศัยให้คนจีนในอาเซียนไปลงทุนในจีนอย่างมากมาย  ขณะที่ในปี 1989สหรัฐอเมริกาเป็นตัวตั้งตัวตีให้เกิด ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC)  APEC ต้องการถ่วงดุลอำนาจทางเศรษฐกิจของกลุ่มเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มสหภาพยุโรป

ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา จีนจะลดการพึ่งพาการผลิตและการส่งออก เพิ่มบริการ เน้นการบริโภคในประเทศ  และมีพัฒนาทางภาคการเงินอย่างมาก มีตลาดหุ้นระหว่างเซี่ยงไฮ้ และฮ่องกง ตลอดจนมีการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น จีนจะลงทุนโดยอาศัยไทยเป็นห่วงโซ่อุปทาน หรือ เครือข่ายลอจิสติกส์ (Supply Chain) ไปยังลาว กัมพูชา และพม่า

โดยสรุป นโยบายของจีน คือการสร้าง One Road One Belt ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นในการเชื่อมต่อความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นหลัก ใน ยูเรเซีย ซึ่งประกอบด้วยสองส่วนหลัก คือ  Silk Road Economic Belt (SREB) และ Maritime Silk Road (MSR) ขึ้นมาสู้กับ ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement:  TPP) จีนต้องการช่วงชิงสหภาพยุโรปซึ่งกำลังถดถอย ถ้าช่วงชิงได้ก็จะสามารถสู้กับสหรัฐอเมริกาได้

20150521_145622

การสัมมนาช่วงที่ 3 : ความสัมพันธ์อาเซียน ไทย กับ ญี่ปุ่น   

มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่

  1. ดร. ทรายแก้ว ทิพากร สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  1. คุณกรกฎ ผดุงจิตต์ รองเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

โดยมี ผศ. อนุชา จินตกานนท์  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ดร. ทรายแก้ว ทิพากร  กล่าวถึง  ความสัมพันธ์อาเซียน ไทย กับ ญี่ปุ่น  ว่า ญี่ปุ่นเป็นเกาะนอกภูมิภาคเอเชีย  ต้องสร้างความสมดุล 2 อย่าง คือ ญี่ปุ่นพัฒนาเทียบเคียงกับประเทศตะวันตก เป็นมหาอำนาจหนึ่งที่ตั้งอยู่ในเอเชีย หรือจะเป็นประเทศเอเชีย ผู้นำญี่ปุ่นจะวางท่าทีอย่างไร จะเห็นว่าญี่ปุ่นขยายตัวลงมาทางใต้ ญี่ปุ่นยังคิดว่าพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นของญี่ปุ่น ส่วนความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ อิทธิพลของญี่ปุ่นส่งออกมายังอาเซียนจำนวนมาก

ญี่ปุ่นมีเทคนิคทางการทูตปนกันระหว่างเศรษฐกิจและการเมือง ประเด็นด้านการเมืองของญี่ปุ่นในภูมิภาค ญี่ปุ่นไม่ได้มีเจตนาจะเข้ามาสัมพันธ์ด้านการเมืองมากนัก ไม่เข้ามาตรง ๆ ญี่ปุ่นเป็นนายทุนที่เอาการพัฒนาทางเศรษฐกิจสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์ ญี่ปุ่นถูกต่อต้านทั่วโลก เนื่องจากทำธุรกิจกับประเทศต่าง ๆ ได้ดุลทางการค้ามากมาย จนกล่าวกันว่าญี่ปุ่นเป็น Economic Animal

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 1977 ญี่ปุ่นได้ออก Fukuda Doctrine หรือลัทธิฟูกุดะ มาเพื่อให้ชาวโลกเห็นว่าญี่ปุ่นจะไม่ทำธุรกิจอย่างเดียว แต่จะมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การช่วยเหลือทางวิชาการ และการช่วยเหลือด้านเงินกู้ให้แก่ประเทศต่าง ๆ ด้วย จึงเป็นที่มาของการเกิด Japan Foundation ไปทั่วโลก  และการเพิ่มขึ้นของ ODA หรือเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่น ให้กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศไทยก็ได้รับการช่วยเหลือมากกว่าประเทศอื่น ๆ

สงครามอินโดจีน (Indochina War) เป็นโอกาสให้ญี่ปุ่นเพิ่มบทบาททางการเมือง และเป็นโอกาสให้อาเซียนเกิดการรวมกลุ่มเพื่อเป้าหมายที่ชัดเจนในการเพิ่มความมั่นคงในภูมิภาค เมื่อสงครามเวียดนามยุติญี่ปุ่นยังมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอยู่ และสร้างสัมพันธ์ใกล้ชิดให้เกิด ASEAN+3 (จีน เกาหลี ญี่ปุ่น) ขึ้น

ในปี 2003  ญี่ปุ่นพยายามส่งเสริมให้เกิด East Asian Community ขึ้น โดยญี่ปุ่นยังคงคิดว่าพื้นที่ ASEAN เป็นของญี่ปุ่น

มิติด้านสังคม อิทธิพลทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่น เช่น J-Pop การ์ตูนญี่ปุ่น และเพลงญี่ปุ่น  เป็นต้นจะมากับการค้า และสินค้าของญี่ปุ่น นอกจากนี้จะมีนักเรียน นักศึกษาจากประเทศต่าง ๆ ไปเรียนที่ญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก

โดยสรุป ไทยกับญี่ปุ่นก็เติบโตมาพร้อม ๆ กัน ประสบปัญหาเรื่องแผ่นดินไหว สึนามิ มลพิษ ปัญหาวัยรุ่น และผู้ไร้บ้าน เหมือนกัน คล้ายกัน

สำหรับคุณกรกฎ  ผดุงจิตต์  ได้กล่าวถึง มิติด้านเศรษฐกิจ ว่าต้องมองการเมืองก่อน เพราะพื้นฐานทางการเมืองเพื่อการแบ่งพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวที่ไม่ใช้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) แต่ใช้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ( Gross National Product: GNP)  การลงทุนของญี่ปุ่นในไทยมีมูลค่าลดลง บางช่วงมีการย้ายฐานการผลิตเข้า-ออก แต่ยังคงรักษาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลไว้ นโยบายการลงทุนของญี่ปุ่นต่ออาเซียนก็ลดลง แต่ไปลงทุนที่สหรัฐอเมริกามากขึ้น สิ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นยังคงอยู่เมืองไทยให้ดูที่ Return on Investment ญี่ปุ่นมีกำไรสูงสุดจากไทยมากกว่าที่ได้จากทั่วโลก รองลงมาคือเม็กซิโก

มีการแข่งขันกันระหว่างญี่ปุ่นและจีน จีนไม่เข้าไปลงทุนที่เวียดนามเพราะมีญี่ปุ่นและเกาหลีลงทุนอยู่ แต่จีนจะเข้าลาว กัมพูชาและพม่า ค่าแรงขั้นต่ำและค่าขนส่งของไทยจะแพงกว่าอินเดีย อินโดนีเซีย ลาว กัมพูชา และพม่า แต่มหาอำนาจสนใจไทยในด้าน Potential Local Market แต่กลัวเรื่องความปลอดภัยของสังคม ปัญหาหลักที่ญี่ปุ่นไม่ชอบคือโครงสร้างพื้นฐานในอินเดียและพม่ายังไม่ดี แต่อินโดนีเซีย ลาวและพม่ามีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มาก รัฐบาลไทยต้องมองว่าจะทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนให้ญี่ปุ่นมองไทยเป็น Headquarters แทนสิงคโปร์ การที่มหาอำนาจจะลงทุนหรือไม่ลงทุนในประเทศใดมีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องคำนึง และเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ต้องคอยติดตามอย่างใกล้ชิด

การค้า การลงทุนและการเมืองแยกกันไม่ขาด ตัวอย่างมีการพูดในที่ประชุมว่าจะให้ใครบ้างไม่ให้ใครบ้าง ก็จะมีเรื่องผลประโยชน์และการเมืองเข้ามาเกี่ยว เช่น จีน ไม่ให้ความช่วยเหลือกับเวียดนาม และฟิลิปปินส์ เพราะมีกรณีพิพาทเรื่องหมู่เกาะสแปรตลีย์ เป็นต้น